เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles), หุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical Robots), โดรน (Drones), ชิ้นส่วนอวัยวะเทียมของมนุษย์ (Human Repair and Enhancement), การปลดล็อกหน้าจอโทรศัพท์ด้วยใบหน้า (Face ID) และ AI ผู้ช่วยในการสั่งงานด้วยเสียง เช่น Siri, Alexa, Google Home จนถึง Cortana เป็นต้น
ปัจจุบัน เทคโนโลยี AI ถูกนำมาใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยมีมูลค่าทางการตลาดกว่า 27.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2562 และคาดว่าจะเติบโตเป็น 266.92 พันล้านดอลลาร์ในปี 2569 โดยเพียงแค่เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าด้วย AI (Face Recognition) ที่ถูกนำมาใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ทั้งโทรศัพท์มือถือหรือกล้องวงจรปิด ก็มีมูลค่าทางการตลาดกว่า 3.72 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 และคาดว่าจะเติบโตเป็น 11.62 พันล้านดอลลาร์ในปี 2569 จึงนับได้ว่า AI เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ถึงแม้เทคโนโลยี AI จะได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เกิดคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ทั้งในเรื่องจริยธรรม มาตรฐานความปลอดภัย การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงกรณีที่หาก AI ทำงานผิดพลาด หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่นักพัฒนาโปรแกรมเขียนขึ้นมาจนก่อให้เกิดความเสียหาย ใครจะเป็นผู้ต้องรับผิดชอบ นักพัฒนาโปรแกรม ? เจ้าของบริษัทที่นำ AI มาใช้ ? หรือตัว AI เอง ?
ที่ผ่านมาการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการทำธุรกิจ ในภาคอุตสาหกรรมหรือให้บริการลูกค้า ก่อให้เกิดความผิดพลาดขึ้นบ่อยครั้ง โดยอาจเกิดขึ้นในช่วงที่ AI กำลังเรียนรู้ข้อมูล ทั้งที่บริษัทคอยป้อนให้ หรือข้อมูลที่ AI เรียนรู้เพิ่มเติมเอง หรือช่วงที่ AI กำลังปรับปรุงประสิทธิภาพของผลลัพธ์ หรือแม้กระทั่งเกิดจากการประมวลผลของ AI ที่ผิดพลาด
ดังเช่น กรณีที่ Alexa (ระบบ Software ที่ควบคุมด้วยเสียง (Voice Control System) เพื่อใช้หาข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัท Amazon) บอกให้เด็กสิบขวบเอาเหรียญแหย่ปลั๊กไฟ หลังเด็กถาม Alexa เพื่อให้แนะนำอะไรที่ท้าทาย ๆ (ในเชิงการออกกำลังกาย) โดยความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากซอฟต์แวร์ผู้ช่วยค่ายต่าง ๆ มักหาคำตอบโดยอัตโนมัติผ่านข้อมูลจากเว็บโดยเนื้อหาจำนวนมากไม่ได้คัดกรองมาก่อน ซึ่งกรณีนี้ Alexa ได้รับข้อมูลมาจากสิ่งที่เรียกว่า Penny Challenge การท้าทายที่มีคนพยายามแหย่เหรียญแตะปลั๊กที่เคยเป็นกระแสอยู่บน TikTok จนทำให้ AI เข้าใจว่าการกระทำดังกล่าวเป็นอะไรที่ท้าทาย ๆ ในเชิงการออกกำลังกายและแนะนำให้เด็กที่สอบถามทำตาม ซึ่งหากเด็กที่ยังขาดวุฒิภาวะได้รับคำแนะนำดังกล่าวและปฏิบัติตามก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมเป็นวงกว้าง (ในกรณีนี้ทาง Amazon ได้ออกมาชี้แจงว่าได้ป้องกันไม่ให้ Alexa แนะนำกิจกรรมแบบนี้อีกในอนาคตแล้ว)
หรือ กรณีของนาย Nijeer Parks ชาวนิวเจอร์ซี่ สหรัฐอเมริกา ถูกกล่าวหาว่าขโมยของในร้านขายสินค้า และขับรถหนีการจับกุมของตำรวจ โดยมีหลักฐานจาก AI (กล้องวงจรปิดที่มีระบบ Face Recognition) แต่นาย Nijeer Parks ได้ปฎิเสธข้อกล่าวหาและให้การกับตำรวจว่าเขาไม่ได้เป็นเจ้าของรถที่หนีการจับกุม ไม่มีใบขับขี่ และไม่เคยไปเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านขายสินค้าดังกล่าว แต่ตำรวจไม่เชื่อคำให้การ และ ไม่ได้ตรวจสอบลายนิ้วมือ หรือดีเอ็นเอเพิ่มเติม กลับส่งตัวนาย Nijeer Parks เข้าคุกนานถึง 10 วัน อย่างไรก็ตาม หลังจากตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมพบว่านาย Nijeer Parks เป็นผู้บริสุทธิ์ และพบว่า AI ทำงานผิดพลาด ส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์ต้องติดคุกไปนานกว่า 10 วัน และต้องใช้เวลาต่อสู้คดีอีกนานเป็นปี
นอกจากนี้ ยังมีความผิดพลาดของ AI ที่ตกเป็นข่าวมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีหุ่นยนต์เล่นหมากรุกทำงานผิดพลาดจับนิ้วของเด็กคู่แข่งวัย 7 ขวบแล้วบีบจนหัก, กรณีรถเมล์ไร้คนขับใน Las Vegas ใช้งานวันแรกก็เกิดอุบัติเหตุแล้ว, กรณี AI ทางการแพทย์ ประเมินพลาดว่าผู้ป่วยโรคหอบหืดมีความเสียงต่ำที่ปอดจะติดเชื้อและอักเสบ, กรณี AI ที่ตัดสินการประกวดความงามและให้เรตติ้งที่ต่ำเกินไปสำหรับผู้แข่งขันผิวสี, กรณีหุ่นยนต์ AI รักษาความปลอดภัยในห้างสรรพสินค้าทำร้ายร่างกายเด็ก เพราะแยกแยะไม่ออกว่าคนไหนเป็นลูกค้า คนไหนเป็นผู้ร้าย, กรณีโปรแกรม Allo (โปรแกรมส่งข้อความจาก Google) ที่เมื่อมีคนส่ง Emoji รูปปืนมาให้ Allo จะแนะนำให้ใช้ Emoji รูปคนสวมผ้าโพกหัว หรือแม้กระทั่งกรณีรถยนต์ไร้คนขับที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ เป็นต้น
จากกรณีความผิดพลาดของ AI ต่าง ๆ ดังกล่าว จะถือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค, กฎหมายความรับผิดต่อสินค้าไม่ปลอดภัย, การกระทำผิดสัญญาระหว่างผู้ประกอบกิจการกับผู้บริโภค หรือความผิดอันเนื่องมาจากการกระทำโดยประมาท ได้หรือไม่ ? และจะมีแนวทางดำเนินการเพื่อให้ได้รับการเยียวยาความเสียหายจากการกระทำผิดพลาดของ AI ได้อย่างไร ?
บทความในตอนต่อไปจะนำเสนอถึงความรับผิดทางกฎหมายของ AI ภายใต้กฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ ใครต้องเป็นผู้รับผิด รวมไปถึงแนวทางการร่างกฎหมายเพื่อมากำกับความรับผิดทางกฎหมายของ AI เพื่อพิจารณาต่อไป
นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์
ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา
และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ