นายตัน เล เยน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) คาดว่าจะนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยได้เลือกบล.ซีมิโก้ (ZMICO) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้ารายได้ของปี 2551 ไว้ที่ 18,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 28% จากรายได้ของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 14,500 ล้านบาท โดยขณะนี้ยอดการขายสินเชื่อทั้งแฟคเตอริ่ง และลีสซิ่ง/เช่าซื้อของไอเอฟเอส แคปปิตอล จัดอยู่ในอันดับที่ 2 ของอุตสาหกรรม
บริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจแฟคเตอริ่ง ซึ่งเป็นสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนที่ให้บริการในรูปแบบของการรับซื้อลูกหนี้การค้าทั้งภายในประเทศและการส่งออก รวมทั้งให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น ลีสซิ่ง/เช่าซื้อสำหรับผู้ประกอบการในทุกธุรกิจ ทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่
“ต้องยอมรับว่า ในขณะนี้มีปัจจัยสนับสนุนธุรกิจ โดยเฉพาะการที่ฐานลูกค้าเดิมของบริษัทฯ ต้องการใช้เงินลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ยอดบิลที่ลูกค้านำมาขายให้กับบริษัทในแต่ละเดือนอยู่ที่ 1,300-1,400 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า เป็นเพราะทางไอเอฟเอสใช้วิธีคุยกับลูกค้าเพื่อนำเสนอบริการที่ดี และรวดเร็ว ทำให้จำนวนการรับซื้อลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้นมาก"นายตันกล่าว
ในปี 2551 บริษัทฯ วางแผนที่จะขยายธุรกิจลีสซิ่ง/เช่าซื้อให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สนับสนุนซึ่งกันและกันกับธุรกิจแฟคเตอริ่ง
“ต้องมองธุรกิจแฟคเตอริ่งและลีสซิ่ง/เช่าซื้อว่าเป็นธุรกิจที่ไปคู่กัน เพราะกลุ่มลูกค้าก็อยู่กลุ่มเดียวกัน คือเอสเอ็มอี เพราะฉะนั้น บริษัทฯ เพียงเพิ่มสินค้าก็ทำให้มีบริการที่ครบวงจร ลูกค้าสามารถเลือกประเภทสินเชื่อที่ต้องการใช้บริการได้ ไอเอฟเอสก็สามารถเพิ่มยอดขายได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มคน และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้วย" นายตันกล่าว
พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า ด้วยมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อจากทีมงานที่มีประสบการณ์ของไอเอฟเอส ทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ของบริษัทฯ อยู่ในระดับไม่เกิน 4%
นอกจากนี้ ทิศทางของธุรกิจแฟคเตอริ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เพราะในขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่มาก การกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์เป็นไปได้ยากขึ้น ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีของไอเอฟเอสที่จะมีลูกค้าใช้บริการมากขึ้น เช่นเดียวกับช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวสูง ผู้ประกอบการก็ยิ่งต้องการขยายธุรกิจและต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับธุรกิจแฟคเตอริ่งอีกเช่นกัน
นายตัน กล่าวว่า ลูกค้าหลักของบริษัทฯ ในขณะนี้ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีการเจริญเติบโตที่ดี จึงมีความต้องการเงินทุนสูง และอาจกู้ยืมจากธนาคารโดยตรงได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากธนาคารต้องใช้เวลาในการพิจารณา รวมทั้งต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ ดังนั้น บริการสินเชื่อแฟคเตอริ่งของบริษัทฯ จึงตอบโจทย์ความต้องการของบรรดาเอสเอ็มอีได้เป็นอย่างดี การพิจารณาสินเชื่อก็รวดเร็ว ประมาณ 7-10 วันทำการเท่านั้น และเมื่อนำเอกสารทางการค้าของลูกหนี้การค้ามาขาย ก็จะได้รับเงินภายใน 24 ชั่วโมง โดยเงินชำระล่วงหน้าที่ได้รับอาจสูงสุดถึง 90 % ของเอกสารทางการค้า
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--