บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 65 ผลการดำเนินงานของบริษัทขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปริมาณการขาย ราคาขายและต้นทุน โดยบริษัทได้ติดตามและปรับเปลี่ยนแนวโน้มผลการดำเนินงานสำหรับปี 65 ให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานและสภาวะอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์ปริมาณการขายเฉลี่ยสำหรับปี 65 ที่ประมาณ 468,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เติบโตจากปี 64 จากการเข้าเป็นผู้ดำเนินการและการเริ่มผลิตปิโตรเลียมของโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) และการเริ่มผลิตน้ำมันของโครงการ แอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ราเคซ นอกจากนั้น ยังมีการรับรู้ยอดขายเต็มปีเป็นปีแรกของโครงการมาเลเซีย แปลงเอช และโครงการโอมาน แปลง 61 อีกด้วย
ในด้านราคาขาย ราคาน้ำมันดิบของบริษัทจะผันแปรตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทนั้นมีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6-24 เดือน โดยบริษัทคาดว่าราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยสำหรับปี 65 จะอยู่ที่ประมาณ 6.3 ดอลลาร์ สรอ. ต่อล้านบีทียูเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า เป็นผลจากการปรับราคาย้อนหลังของราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งได้สะท้อนช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ณ สิ้นไตรมาส 3/65 มีปริมาณน้ำมันในส่วนที่บริษัทได้เข้าทำสัญญาประกันความเสี่ยงไว้สำหรับไตรมาส 4/65 และปี 66 อยู่ที่ประมาณ 5.05 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันตามความเหมาะสม
ส่วนต้นทุนสำหรับปี 65 ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 29-30 ดอลลาร์สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นจากต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยของปี 64 โดยหลักจากรายจ่ายค่าภาคหลวงต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นตามราคาขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมของโครงการจี 1/61 ที่บริษัทเพิ่งเข้าเป็นผู้ดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในไตรมาส 2/65
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP ยังเปิดเผยว่า ตามที่บริษัทตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำนั้น บริษัทวางแผนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ปัจจุบัน อยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนา CCS ที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย รวมทั้ง ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ
บริษัทยังได้ร่วมมือกับสถาบันนวัตกรรม ปตท. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนากระบวนการผลิตท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotubes หรือ CNTs) จากก๊าซส่วนเกินในกระบวนการผลิตปิโตรเลียม หรือ Flare gas ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU)
โดย CNTs เป็นวัสดุแห่งอนาคตที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ อุปกรณ์กักเก็บพลังงานอื่น ๆ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ปัจจุบัน ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อทดสอบการผลิตท่อนาโนคาร์บอนในโรงงานนำร่อง (Pilot Plant) ซึ่งวางแผนติดตั้งที่โครงการเอส 1 ในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ บริษัทยังมองแนวทางการชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน จำนวน 45,000 ไร่ ภายในปี 2573 โดยบริษัทได้เริ่มปลูกไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน ประมาณ 5,000 ไร่ และจะปลูกอย่างต่อเนื่องปีละ 5,000 ไร่ พร้อมบำรุงรักษาไปจนถึงปี 2582 จากประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2582 จะอยู่ที่ประมาณ 1.113 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า