PTTEP แจง Q3/65 รายได้-กำไรโตตามปริมาณขาย เดินหน้าขยายลงทุนตะวันออกกลาง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 25, 2022 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ.ชี้แจงผลประกอบการไตรมาส 3/65 มีรายได้รวม 2,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 95,292 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 148 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเทียบกับรายได้รวม 2,469 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 84,955 ล้านบาท) ในไตรมาส 2/65

โดยในไตรมาส 3 ปตท.สผ. มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 478,323 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 465,459 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในไตรมาส 2/65 โดยหลักมาจากโครงการจี 1/61 หลังจากเข้าเป็นผู้ดำเนินการเมื่อปลายเดือนเมษายน 2565 และจากโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ซึ่งได้เพิ่มปริมาณการผลิต รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ

ในขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยปรับลดลงจาก 55.61 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 53.68 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ในไตรมาสที่ 3 นี้ บริษัทมีผลกำไรจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน จำนวน 94 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 3,415 ล้านบาท)

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ในไตรมาส 3/65 ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิ 664 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 24,172 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 64 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากไตรมาส 2/65 ที่มีกำไรสุทธิ 600 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 20,600 ล้านบาท) และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ ร้อยละ 76 ซึ่งเป็นตามที่คาดการณ์ไว้

ในรอบ 9 เดือนของปี 65 ปตท.สผ. ได้นำรายได้ส่งให้กับรัฐ ซึ่งอยู่ในรูปภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

ด้านการขยายการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์นั้น การขยายการลงทุนในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของ ปตท.สผ. ในไตรมาสนี้ ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจหลุมแรกในโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้กับบริษัทในอนาคต อีกทั้ง ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยหลักมาจากการเข้าซื้อโครงการโอมาน แปลง 61 ในเดือน มี.ค.64

ความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อเร่งการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการจี 1/61หลังจากที่ ปตท.สผ. ชนะการประมูลโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล, ฟูนาน) นั้น บริษัทได้เตรียมแผนงานในการเข้าพื้นที่โครงการจี 1/61 ล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนวันที่ ปตท.สผ. จะเข้าเป็นผู้ดำเนินการในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ตามข้อตกลงที่มีต่อรัฐ เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้รับสัมปทานรายเดิมให้เข้าพื้นที่ จนเกิดความล่าช้าจากแผนงานเดิมเป็นเวลากว่า 2 ปี ประกอบกับผู้รับสัมปทานรายเดิมหยุดการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ มาเป็นเวลานาน ส่งผลให้อัตราการผลิตก๊าซฯลดลงอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้ปรับแผนงานมาโดยตลอด เพื่อเร่งอัตราการผลิตก๊าซฯ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

โดยในช่วงระยะเวลา 6 เดือน หลังจากวันที่ ปตท.สผ. ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการในปลายเดือน เม.ย.65 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้ทำการเจาะหลุมผลิตไปแล้ว จำนวน 10 หลุม และติดตั้งแท่นหลุมผลิต (wellhead platform) เสร็จสิ้นไปแล้ว 4 แท่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งแท่นหลุมผลิตอีก 4 แท่น วางท่อใต้ทะเล และได้เพิ่มแท่นเจาะ (Rig) เพื่อเจาะหลุมผลิตอีกประมาณ 70 หลุมภายในปี 65 รวมทั้งกำลังเร่งก่อสร้างแท่นหลุมผลิตใหม่อีก 4 แท่น ซึ่งมีความคืบหน้าไปเร็วกว่าแผนงานที่วางไว้

"การเร่งรัดพัฒนาโครงการจี 1/61 เป็นอีกเป้าหมายหลักของ ปตท.สผ. ซึ่งภารกิจที่สำคัญครั้งนี้ ปตท.สผ. ตระหนักเป็นอย่างดี เราพยายามอย่างเต็มความสามารถและหาทุกวิถีทางมาโดยตลอดในการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ" นายมนตรีกล่าว

ในระหว่างที่กำลังเร่งพัฒนาโครงการจี 1/61 นั้น ปตท.สผ. ได้เพิ่มการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) รวมอีกประมาณ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้กับประชาชนและประเทศ

ด้านความคืบหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีนั้น บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้บริษัท ARV ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์นอติลุส (Nautilus) ร่วมกับพันธมิตร และพร้อมสำหรับให้บริการในเชิงพาณิชย์แล้ว นอติลุสเป็นหุ่นยนต์ซ่อมท่อใต้น้ำกึ่งอัตโนมัติตัวแรกของโลก ที่สามารถลงไปซ่อมบำรุงท่อใต้ทะเลได้ลึกมากถึง 150 เมตร รองรับภารกิจที่มีความเสี่ยงกับมนุษย์ เพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานใต้ทะเลลึก และยังช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้กว่า 40%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ