SAP ตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้า Solar Rooftop ในมือไม่ต่ำกว่า 30 เมกะวัตต์ก่อนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังการผลิตที่ก่อสร้างและติดตั้งแล้วเสร็จ 12 เมกะวัตต์ จากสัญญา Private PPA ที่มีอยู่ทั้งหมด 25 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ขณะที่ปัจจุบัน SAP อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการ (M&A) ผู้ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Private PPA กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงปลายปี 65 - ต้นปี 66
นายฤทธี ยังเปิดเผยว่า ทิศทางภาพรวมของ SCN ในปีนี้มั่นใจว่ากำไรสุทธิจะทำสถิติสูงสุดใหม่ หลังจากช่วง 6 เดือนแรกแรก บริษัทมีกำไรสุทธิแล้ว 303.58 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีรายได้ทั้งปีนี้ราว 2,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 64 ที่มีรายได้รวม 1,750 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกมีรายได้รวมแล้ว 716 ล้านบาท
ขณะที่ช่วงที่เหลือของปี 65 บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 3/65 และ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการที่เริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายกัญชง-กัญชา ภายใต้บริษัทย่อย คือ บริษัท สแกน เมดิเฮิร์บ จำกัด เนื่องจากมีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง 200-400 กิโลกรัม/เดือน บริษัทมีความสามารถในการปลูกกัญชงกัญชาเกรดมที่ใช้เพื่อทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการปลูกในระบบ Indoor พื้นที่มากกว่า 3,150 ตารางเมตร คิดเป็นกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 200 กิโลกรัมต่อเดือน
ด้านธุรกิจหลักเดิมนั้น บริษัทได้ขยายกลุ่มงานรับเหมาก่อสร้างไปอยู่นอกเหนืองานที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่ม Oil & Gas โดยล่าสุดบริษัทได้เข้าร่วมประมูลโครงการก่อสร้างปั๊มน้ำมันอัจฉริยะรูปแบบใหม่ของ บมจ.ปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก (OR) มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญารับงานได้ภายใน 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ ซึ่งหากผลของโครงการดังกล่าวออกมาได้เป็นที่น่าพอใจเชื่อว่าจะมีโครงการในลักษณะนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการรอความชัดเจนของสัญญาใหม่กับกลุ่ม ปตท. ด้านการให้บริการซ่อมบำรุงสถานี NGV อีก 1 สัญญา จากปัจจุบันบริษัทมีสัญญาซ่อมบำรุงให้กับกลุ่ม ปตท. อยู่ 2 สัญญา จำนวนราว 70-80 สถานี/สัญญา ซึ่งสัญญาที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้รายได้ด้านการซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นอีก 25% ด้านบริษัท เครือข่ายก๊าซ ไทย-ญี่ปุ่น จำกัด (Thai-Japan Gas Network หรือ TJN) ประกอบธุรกิจจำหน่ายก๊าซธรรมชาติอัดสำหรับอุตสาหกรรม (iCNG) ยังมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการที่บริษัท Shizuoka Gas Company Limited หรือ SZG เข้ามาถือหุ้น 49% ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อใหม่ๆ จากผู้ประกอบการสัญชาติญี่ปุ่นมากขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันดิบและพลังงานยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงอบ่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการโรงไฟฟ้ามินบู เฟสที่ 2 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 65 ก่อนที่จะรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปีในปี 66 ซึ่งจะทำให้รายได้จากโรงไฟฟ้ามินบูเข้ามาเพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ หลังจากรับรู้รายได้จากเฟส 1 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์เข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
นายฤทธี ยังเปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมในปี 66 บริษัทคาดว่ารายได้อาจจะไม่ได้เติบโตมากนัก แต่บริษัทจะหันมาเน้นการเติบโตของกำไรสุทธิเป็นหลัก โดยจะเฉพาะจากการเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปีของโรงไฟฟ้ามินบู เฟสที่ 2 การขยายตัวของการจำหน่ายก๊าซ iCNG รวมไปถึงการเติบโตของ Solar Rooftop
นอกจากนี้ บริษัทยังจะรับรู้รายได้เพิ่มมากขึ้นในส่วนของบริการซ่อมบำรุงรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน มูลค่ารวม 2,300 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยในช่วง 5 ปีแรกที่ผ่านมามีค่าให้บริการซ่อมบำรุงอยู่ที่ 900 บาท/คัน/วัน แต่ปัจจุบันดำเนินการให้บริการซ่อมบำรุงสู่ 5 ปีหลัง ซึ่งจะมีค่าให้บริการซ่อมบำรุงเพิ่มเป็น 1,600 บาท/วัน/คัน "ในทุกๆ ธุรกิจของบริษัทยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการรับรู้รายได้จาก โครงการโรงไฟฟ้ามินบู เฟสที่ 2 เข้ามาเต็มปี และ การให้บริการซ่อมบำรุงรถเมล์ NGV รวมไปถึงการจำหน่ายกัญชง-กัญชาเพื่อการแพทย์ ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาพรายได้อาจจะไม่ได้เติบโตมากนัก"นายฤทธี กล่าว