นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือนพฤศจิกายน 2565 ว่า คาดตลาดหุ้นไทยแกว่งตัว Sideways ในกรอบ 1560-1660 จุด โดยในช่วงแรกของเดือนคาดว่าบรรยากาศการลงทุนน่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากการที่ไม่มีข่าวร้ายใหม่เข้ามากระทบ พร้อมทั้ง Fund flow มีสัญญาณบวกต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากการพลิกกลับมามีสัญญาณที่ดีของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนล่าสุด
อย่างไรก็ดี พอผ่านพ้นช่วงต้นเดือนไป อาจต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะหากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาร้อนแรงต่อเนื่อง จะทำให้นักลงทุน Price in การขึ้นดอกเบี้ย Fed ครั้งสุดท้ายของปีนี้ในระดับที่รุนแรงมากขึ้นได้ ไม่นับรวมกับความเสี่ยงที่กนง.อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมปลายเดือนนี้อีกด้วย
ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำถือครองหุ้นในส่วนเดิมซึ่งมีต้นทุนดัชนีอยู่ราว 1590 จุด โดยยังคงเน้นโฟกัสไปที่กลุ่ม Domestic cyclical ที่ยังคงได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว และอาจมีแรงหนุนเล็กน้อยจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศช่วงถัดไป ทั้ง กลุ่มธนาคารฯ เงินทุนหลักทรัพย์ ประกันภัย สื่อสาร และสื่อและสิ่งพิมพ์ โดยมี Top pick 10 หุ้นเดิมได้แก่ KBANK, AEONTS, TIDLOR, TLI, ADVANC, DTAC, ONEE, PLANB, RATCH, COM7
นายณัฐชาต มองการประชุม FOMC ในช่วงต้นเดือนวันที่ 1-2 พ.ย. มีความสำคัญน้อยลง จากการที่ตอนนี้นักลงทุน Price in การขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ต้องติดตามถ้อยแถลงของนาย Jerome Powell ประธาน Fed ว่าจะออกมามีทิศทาง Dovish/Hawkish อย่างไร ส่วนในระหว่างเดือน คงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯกันต่อ เนื่องจากจะส่งผลต่อไปยังการคาดการณ์ Fed Funds futures ในตลาดได้ ซึ่งต้องบอกว่าในปัจจุบัน นักลงทุนยังคงมีมุมมอง 50:50 ระหว่างการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% กับ 0.75% ในการประชุม Fed ครั้งสุดท้ายของปี วันที่ 13-14 ธ.ค.
ส่วนการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.นั้น หากผลการเลือกตั้งออกมาเป็นไปตามที่โพลทุกสำนักมองไว้ว่าพรรครีพับลิกันจะสามารถกลับมายึดครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้ มองจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดหุ้นสหรัฐฯในทางบวกได้ โดยหากอ้างอิงจากสถิติในอดีตนับตั้งแต่ปี 1990 จะพบว่าแทบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเสียงข้างมากในสภาล่าง ตลาดหุ้นสหรัฐฯมักมีการตอบรับเชิงบวกได้ราว 4-5% โดยเสมอ ซึ่งอธิบายได้ด้วยเหตุผลของความคาดหวังในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆที่อาจจะตามมานั่นเอง
สำหรับปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความคืบหน้าของการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่อาจจะออกมาเพิ่มขึ้น อาทิ มาตรการคนละครึ่งเฟส 6 มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน หากเกิดขึ้นจริง มองจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อกำลังซื้อในประเทศที่ส่วนหนึ่งถูกกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงหลัง และน่าจะเป็น Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่ม Domestic cyclical ที่ยังคงแนะนำถือครองเป็น Core portfolio ต่อไป
นอกจากนั้น ยังต้องติดตามการประชุมกนง.ในวันที่ 30 พ.ย. ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ ล่าสุด เสียงของนักลงทุนในตลาดยังคงแบ่งครึ่งระหว่างการคงดอกเบี้ยที่ระดับเดิม 1.00% กับการขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 1.25% ทั้งนี้ จากการศึกษาของทรีนีตี้พบว่า หากมีการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จะเป็นผลลบต่อดัชนี SET ราว 40-50 จุด ผ่านปรากฏการณ์ PE Contraction โดยจะทำให้ระดับ SET ที่เหมาะสมในกรณี Bull / Base / Bear ของทรีนีตี้ปรับลดทอนลงจาก 1750 /1630 / 1510 จุด เป็น 1700 / 1580 / 1470 จุดตามลำดับ