INTERVIEW: THCOM ลุยธุรกิจใหม่เกี่ยวเนื่องอวกาศก้าวขึ้น Space Tech Company,ปี 66 สรุปพันธมิตร LEO

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 2, 2022 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

INTERVIEW: THCOM ลุยธุรกิจใหม่เกี่ยวเนื่องอวกาศก้าวขึ้น Space Tech Company,ปี 66 สรุปพันธมิตร LEO

บมจ.ไทยคม (THCOM) ประกาศเข้าสู่ยุคใหม่ ไม่จำกัดเพียงแค่ธุรกิจดาวเทียมอีกต่อไป แต่พร้อมเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศสร้าง New S-Curve ก้าวขึ้นสู่การเป็น Space Tech Company ด้วยการจับมือพันธมิตรระดับโลก พร้อมเปิดตลาดใหม่ทั้งในประเทศและภูมิภาค ขณะที่ช่วงระยะสั้นรายไดัหลักยังมาจากธุรกิจดาวเทียมสื่อสารมากกว่า 90% พร้อมโดดร่วมชิงสิทธิวงโคจรดาวเทียมใหม่หวังอัพรายได้ก้าวกระโดด

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า เรามองไทยคมเป็นยุคใหม่ หลังจากครบรอบ 30 ปีแล้วประสบความสำเร็จมาระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้กำลังเปลี่ยนทิศจากการเป็นผู้ให้บริการดาวเทียม ไปเป็นบริษัท Space Tech โดยมองโอกาสของไทยคมไม่ใช่แค่สื่อสารดาวเทียม แต่เป็นเรื่องของอวกาศ ซึ่งมี Opportunity ในอวกาศระดับโลกที่กำลังเปิดกว้าง

การเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศขณะนี้ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นแล้ว ต่างจากอดีตที่พูดถึงแต่นาซ่า หรือประเทศรวยๆ ที่ทำธุรกิจนี้ แต่ตอนนี้ในโลกใบใหม่มีโอกาสเข้าถึงได้ง่าย และมีโอกาสมหาศาล โดยไทยคมมองว่าเราอยู่ใน Position ที่ดี สามารถต่อยอดความรู้ ความสามารถของทีมงานและงานที่เกี่ยวข้องอวกาศแขนงหนึ่ง จึงมองว่าเป็นโอกาสทองและจังหวะที่ดี ตัวอย่างภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งมีมานานแล้ว แต่ในยุคนี้ภาพถ่ายดาวเทียมผสมผสานกับ AI และ Machine Learning จะทำให้มีการวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว และทำให้เกิด Powerful มาก โดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่างๆ ได้เป็นอย่างมาก

"ไทยคมมองตัวเองเป็น Regional Space Tech Company (ผู้ให้บริการชั้นนำในภูมิภาคด้านเทคโนโลยีอวกาศ) ซึ่งปัจจุบันไทยคมมีการให้บริการสื่อสารดาวเทียมในเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย ดังนั้น โอกาสของไทยคม ไม่ได้จำกัดแค่ดาวเทียมสื่อสารอย่างเดียว"นายปฐมภพ กล่าว

*ธุรกิจใหม่: วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมแบบเจาะลึกสำหรับธุรกิจ

นายปฐมภพ กล่าวว่า ธุรกิจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อนำมาใช้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของ Space Economy เป็นการใช้ Data Analytics ที่จะมาจากวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมให้เป็น Solution ที่นำไปใช้ได้กับลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการภาคส่วนนต่างๆ เช่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติ การขนส่ง การบริหารจัดการสาธารณูปโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมถึงการใช้เป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์สำหรับภาคธุรกิจ

ตัวอย่างเช่น การปลูกป่าขนาดใหญ่เพื่อจะได้ Carbon Credit ปกติจะใช้คนลงไปพื้นที่ สำรวจชนิดของต้นไม้ หรือรายละเอียดอื่นๆ เพื่อการดูดซับคาร์บอน ซึ่งจะยุ่งยากมาก แต่หากใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมประเมินว่าต้องปลูกต้นไม้ชนิดไหนและใช้พื้นที่เท่าไร เพื่อให้ได้ Carbon Credit ก็จะสามารถประเมินได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

นายปฐมภพ เผยว่า ขณะนี้บริษัทกำลังขอลิขสิทธิ์ที่ทำโปรแกรมที่เกี่ยวกับการวัด Carbon Credit ผ่านดาวเทียม ที่จะต้องมีมาตรฐานการรองรับปริมาณการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit) โดยบริษัทอยู่ในช่วงการดำเนินการขอการรับรองมาตรฐานวิธีการทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากได้รับการรับรอง ก็จะสามารถนำโปรแกรมนี้ไปให้บริการได้เป็น solution ดังนั้น บริษัทจะสามารถขาย Solution ให้กับคนที่อยากจะปลูกป่าเพื่อลดคาร์บอน หรือขายคาร์บอนเครดิต ก็จะมาจ้างเรา

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ส.ค.65 บริษัทได้เซ็นสัญญากับ Orbital Insight ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ (Geospatial) จากสหรัฐอเมริกา เป็นพาร์ทเนอร์หลัก ทั้งนี้ ลูกค้าหลักของ Orbital Insight เป็นหน่วยงานฝ่ายกลาโหมของสหรัฐอเมริกา และบริษัทชั้นนำ 500 อันดับแรกของ Fortune

จากการประเมินมองว่า ตลาดการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมทั่วโลกมีมูลค่าราว 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จึงมองว่าเป็นโอกาสทองสำหรับไทยคม เป็นโอกาสที่ใช้ความเชี่ยวชาญของบริษัทด้วยภาพถ่ายดาวเทียมนำมาประมวลผลด้วยเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) ที่มีข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี และยังสามารถพยากรณ์สถานการณ์ในอนาคตได้ด้วย

โดยบริษัทเห็นว่าตลาดไทยมีแนวโน้มจะใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมากขึ้น ซึ่งบริษัทเริ่มทำการตลาดบ้างแล้ว ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ซึ่งต้องใช้เวลาให้ลูกค้าได้ศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาหลายองค์กรตื่นเต้นและให้ความสนใจกับบริการดังกล่าว อาทิ การบริหารจัดการเมือง Smart City , ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจห้างสรรพสินค้า โดยจะนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งข้อมูลเหล่านนี้จะสร้างประโยชน์ เพื่อให้ธุรกิจเกิดประสิทธิภาพ มีข้อมูล Intelligent ให้มีความแม่นยำมากขึ้น

นายปฐมภพ กล่าวว่า ปัจจุบัน ฝ่ายความมั่นคงของหน่วยงานรัฐได้เจรจากับบริษัทที่จะใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

นายปฐมภพ เล่าที่มาของธุรกิจนี้ว่า จุดเริ่มต้นจากไทยคม มีความคิดริเริ่มที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับภาพถ่ายดาวเทียม จึงได้เสาะหาบริษัทที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว ก็พบ Orbital Insight บริษัทชั้นนำด้านนี้จึงได้เริ่มเจรจา และที่สุดบริษัทก็ได้เป็นพันธมิตรกับ Orbital Insight เนื่องจากไทยคมมีจุดแข็งที่มีความน่าเชื่อถือสูงในวงการเป็นประตูให้ได้พาร์ทเนอร์ที่ดี เพราะธุรกิจนี้ต้องเชื่อใจกัน ซึ่งบริษัทได้รับความไว้วางใจ มีความน่าเชื่อถือ เพราะเราเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นบริษัทที่มีวิศวกรจำนวนมาก

นับว่าไทยคมเป็นบริษัทแรกใน Southeast Asia ที่เป็นพันธมิตรกับ Orbital Insight ซึ่งไทยคมสามารถทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในอินโดจีน เป็นสิ่งที่เราต่อยอดทำการตลาดได้ คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ต้นปี 66

"ตอนนี้โอกาสเข้ามาตลอดเวลา หน้าที่เราก็แปลงโอกาสเป็นธุรกิจ เราทำเต็มที่ ก็จะเห็นว่าไทยคมจะมีธุรกิจหลายๆอย่าง เราจะเปิดมิติใหม่"นายปฐมภพ กล่าว

*ดาวเทียม LEO โอกาสอนาคต

ซีอีโอ THCOM กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจดาวเทียม LEO ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ มองว่าเป็นอนาคตของธุรกิจดาวเทียม ซึ่งตอนนี้ธุรกิจนี้อยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้น ยังมีการใช้งานค่อนข้างน้อย โดยดาวเทียม LEO จะใช้เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ใช้ในการสื่อสาร ซึ่งปัจจุบันมี 4-5 รายที่ลงทุนดาวเทียม LEO โดยไทยคมจะเข้าไปร่วมมือเป็นพันธมิตรทำตลาดในไทย ซึ่งไทยคมเป็น Local Partner ที่จะช่วยเชื่อมกับต่างประเทศ ซึ่งไทยคมจะช่วยเปิดให้มี Landing Right เพื่อให้บริการในประเทศไทยได้

พันธมิตรรายแรกที่ไทยคมเซ็นสัญญา คือ บริษัท โกลบอลสตาร์ (Globalstar, Inc.) ผู้ให้บริการระดับโลกด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียมและโซลูชั่น IoT จาก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมี.ค.65 ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ ขณะนี้บริษัทอยู่ในช่วงดำเนินการขอใบอนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยดาวเทียมต่างชาติจ่ายค่าธรรมเนียมปีละ 7%

ทั้งนี้ บริษัทได้ทำสัญญากับโกลบอลสตาร์ 10 ปี ที่จ้างให้บริษัทสร้างอุปกรณ์ภาคพื้นดิน (Gateway) ในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ลาดหลุมแก้ว และช่วย operate โดยว่าจ้างไทยคมเป็นรายเดียวที่จะสร้างบริการของเขาได้ ซึ่ง Global Star จะจับมือไทยคมขยายตลาดการจัดการด้านความปลอดภัยสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมทางทะเล และขยายไปยังตลาดอื่นในภูมิภาคซึ่งก็เป็นโอกาสของไทยคม

นาปฐมภพ คาดว่าบริการดังกล่าวจะเริ่มได้อย่างเร็วปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยจะนำระบบและอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ด้วยดาวเทียมวงโคจรต่ำ โดยมี IoT Solutions ผ่านดาวเทียม LEO ซึ่งเป็นระบบติดตามผ่านดาวเทียมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวทางทะเล ไทยคมได้ทำการตลาดไว้ล่วงหน้าแล้ว ได้แก่ การให้บริการหน่วยงานความปลอดภัยนักท่องเที่ยวทางเรือที่ภูเก็ต

"การร่วมเป็นพันธมิตรกับ 2 พาร์ทเนอร์ มีความเสี่ยงน้อยมากเมื่อเทียบกับโอกาส แต่ความท้าทายคือความยอมรับของตลาด เพราะสิ่งนี้เป็นเรื่องใหม่มากๆ กว่าคนจะเห็นคุณค่าต้อง Educate ต้องรอให้เห็นจริง เพราะการแข่งขันปัจจุบันขึ้นอยู่กับข้อมูลที่แม่นยำ การได้ข้อมูลจาก Data Analytics และสามารถวิเคราะห์สิ่งที่ตัวเองอยากจะรู้ที่จะทำให้การตัดสินใจดีขึ้น อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ระบบไฟฟ้า ธุรกิจค้าปลีก ความมั่นคง การวางแผนเมือง ซึ่งในต่างประเทศก็ได้นำมาใช้บริการไปแล้ว"นายปฐมภพ กล่าว

*ธุรกิจดาวเทียมยังเป็นหลัก พร้อมรุกขยายตลาดอินเดีย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM กล่าวว่า ในระยะสั้น ใน1-3 ปี ธุรกิจหลักก็ยังคงเป็นธุรกิจสื่อสารดาวเทียม ที่ยังสำคัญมากๆ ที่มีสัดส่วนรายได้ มากกว่า 90% แต่ในระยะยาว ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Data Analytics จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เทรนด์ของโลกมีโอกาสที่จะสร้างรายได้มากจากธุรกิจใหม่ เพราะการที่บริษัทได้ไปทำตลาดที่ใหญ่ขึ้น ตัวรูปแบบการทำธุรกิจไม่ต้องลงทุนสูง เพราะเป็นดิจิทัล มีระบบคลาวด์ ดังนั้น เราจะร่วมเป็นพันธมิตรแล้วต่อยอดธุรกิจ ขายบริการเพิ่ม ขณะเดียวกัน ดาวเทียมสื่อสารก็ยังคงดำเนินต่อ เพราะเป็นธุรกิจหลักที่เรามีความเชี่ยวชาญ และธุรกิจดาวเทียมสื่อสารนี้ก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริมทำให้ต้นทุนถูกลง 4-5 เท่า มีประสิทธิภาพมากขึ้น แรงขึ้น ซึ่งก็จะทำให้บริษัทมีโอกาสขยายตลาดได้กว้างมากขึ้น"นายปฐมภพ กล่าว

ปัจจุบัน ไทยคม มีดาวเทียมไทยคม 4, 6, 7 และ 8 ที่ยังดำเนินการต่อเนื่อง โดยดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และไทยคม 6 บริษัทได้เช่าช่องสัญญาณระยะยาวจาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ส่วนดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 บริษัทได้ใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเป็นเอกฉันท์ว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 มิได้เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารฯ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลผลกระทบดังกล่าว

บริษัทยังเห็นว่าตลาดดาวเทียมบรอดแบนด์ยังเป็นตลาดที่มีดีมานด์ โดยจะยังคงเน้นเจาะตลาดอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากถึง 1,300 ล้านคน พื้นที่ห่างไกลระบบ 5G ไปไม่ถึง นอกจากนี้ ตลาดออสเตรเลีย ก็ยังมีความต้องการต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ , ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมอยู่มากแต่มีปัญหาภูมิประเทศเป็นเกาะจำนวนมาก การใช้ดาวเทียมจึงเป็นแนวทางที่สามารถรองรับพื้นที่ห่างไกล โดยบริษัทจะจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นเข้าไปทำตลาด โดยจะเน้นที่โครงการรัฐ

ในปี 66 ธุรกิจดาวเทียมสื่อสารก็ยังเป็นรายได้หลัก โดยมีสัดส่วนรายได้จากในประเทศ 50% และจากต่างประเทศ 50% ซึ่งมีแนวโน้มสัดส่วรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ที่ได้เริ่มเปิดให้บริการ ได้แก่ บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมทางทะเล (NAVA) , Express Wi-Fi ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไหล, ให้บริการโดรนเพื่อการเกษตร แม้ว่าจะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ยังไม่ได้มีนัยสำคัญ แต่แนวโน้มมีโอกาสเติบโต รวมทั้งยังได้บริการ 2 ธุรกิจใหม่ คือ LEO Service เกี่ยวกับความปลอดภัยการท่องเที่ยว และ วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการต้นปี 66

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะเข้าร่วมประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมดวงใหม่ เพราะหากได้มาก็จะช่วยทำให้บริษัทสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น

"รายได้หลักจากสื่อสารดาวเทียมก็ต้องรอดาวเทียมดวงใหม่ รายได้ถึงจะก้าวกระโดด ดาวเทียมดวงใหม่ใช้เวลาสร้าง 2 ปีกว่า แต่ในช่วงเวลานั้นถ้าเรามีโอกาสเพิ่มลูกค้า เราก็ไปเช่าดาวเทียมดวงอื่นให้บริการในระยะสั้นไปก่อน ไม่ใช่หยุดนิ่ง 2 ปี"

นายปฐมภพ กล่วว่า การที่มีดาวเทียมใหม่ของตัวเองดีกว่าการเช่าดาวเทียมคนอื่นมาให้บริการ จะได้เรื่องความมั่นคง รายได้ และควบคุมต้นทุน และสามารถทำกำไรได้ดีกว่า เพราะไม่รู้ว่าเขาจะเช่านานเท่าไร

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมพร้อมเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตใช้วงโคจรดาวเทียมใหม่ปลายปีนี้ หลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)กำหนดการเปิดประมูลในเดือนธ.ค.นี้

*โฟกัสกำไรเป็นหลัก ธุรกิจใหม่หนุน

นายปฐมภพ กล่าวว่า บริษัทโฟกัสที่กำไรสุทธิ (bottom line) มากกว่า จะเห็นได้จากไตรมาส 2/65 ที่มีกำไรต่อเนื่อง โดยในปีที่แล้วมีกำไรสุทธิ 143 ล้านบาท และในงวดครึ่งปีแรกของปี 65 มีกำไรสุทธิ 360 ล้านบาท

"ผมจะโฟกัสการทำกำไรให้บริษัทสำหรับปีนี้ ในเวลาเดียวกันก็เตรียมตัวขยายธุรกิจแขนงใหม่ๆ รายได้ ปัจจุบันกลับมา stable แต่อนาคตเราจะขยายธุรกิจใหม่จะช่วยเพิ่มรายได้ ซึ่งใช้เวลาไต่ขึ้น ขึ้นกับการยอมรับธุรกิจ เทคโนโลยีซึ่งประเมินยาก"นายปฐมภพ กล่าว

"ไทยคมในปีหน้า มี opportunity เยอะเรามั่นใจและเราเดินหน้าธุรกิจ ตลาดหลักของเรามีดีมานด์แน่นอน และเรามีฐานลูกค้า ซึ่งเรามีความมั่นใจสูง เพราะเราไปต่อยอดลูกค้าเดิม ตลาดที่เจาะเป็นตลาดที่เราคุ้นเคย เข้าใจ มีพันธมิตรที่ไว้ใจได้ มีผลงานแล้ว และดาวเทียมดวงใหม่จะทำให้ธุรกิจก้าวกระโดด และเดินหน้าธุรกิจใหม่ของเรา เรื่อง Space ซึ่งเป็น area ที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทย แสดงว่าโอกาสมีมาก เช่นกัน เราไม่ได้คิดทำคนเดียว เราเปิดในการร่วมธุรกิจกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดธุรกิจของเรา เพราะต้องการความเชี่ยวชาญแต่ละsegment ต้องการความเชี่ยวชาญ ในแต่ละธุรกิจ อาทิ ธุรกิจค้าปลีก"

ขณะเดียวกัน ธุรกิจดาวเทียม LEO เจรจากับหลายราย ซึ่งทุกรายเป็นผู้เล่นหลักของโลก และประเมินว่าผลิตภัณฑ์ของรายไหนดีกว่า บริษัทจะเน้นเรื่องดาวเทียมบรอดแบนด์ และสุดท้ายถ้ามีผลิตภัณฑ์ที่ต่างกันก็สามารถเลือกเป็นพันธมิตรได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าน่าจะสรุปพันธมิตรได้ในปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ