บมจ.การบินไทย (THAI) รายงานว่า ในไตรมาส 3/65 บริษัทและบริษัทย่อยมีขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 4,785 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 2.19 บาท เทียบกับไตรมาส 3/64 ที่มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 39,996 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 18.32 บาท เนื่องจากบริษัทมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ส่วนใหญ่เกิดจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการตีมูลค่าทางบัญชี เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท และผลขาดทุนจากด้อยค่าของสินทรัพย์ ถึงแม้จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้และกำไรจากการขายทรัพย์สิน ส่งผลให้ในไตรมาส 3/65 มีรายการเกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 5,212 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ และบริษัทย่อยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าทั้งในส่วนของเครื่องบินและอื่นๆ เป็นกำไรจำนวน 6,181 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 3,100 ล้านบาท ทั้งนี้ EBITDA สำหรับบริษัทฯ มากกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนคือเงื่อนไขหนึ่งในการออกจากแผนฟื้นฟู
ส่วนในงวด 9 เดือน ปี 65 มีผลขาดทุนสุทธิ 11,252 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 5.16 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปี 64 มีกำไรสุทธิ 51,121 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 23.42 บาท
ณ วันที่ 30 ก.ย.65 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 183,289 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธ.ค.64 จำนวน 22,070 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 265,788 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 จำนวน 33,318 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและบริษัทย่อยติดลบ 82,499 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยอดการขายตั๋วที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประกอบกับ EBITDA กว่าเดือนละ 2,000 ล้านบาททำให้เงินสดคงเหลือของบริษัทเพิ่มจาก 6,017 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มี.ค.65 เป็น 13,474 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิ.ย.65 และ 23,308 ล้านบาท เมื่อสิ้นไตรมาส 3/65
ในไตรมาส 3/65 จากการเติบโตของปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทฯ มีการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางระหว่างประเทศได้แก่ แฟรงเฟิร์ต ลอนดอน มิวนิก ซูริค โคเปนเฮเกน โซล สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ จาการ์ตา เดนปาซาร์ และเปิดให้บริการเส้นทางบินเพิ่มเติม ได้แก่ โตเกียว (ฮาเนดะ) บรัสเซลส์ เจดดาห์ เพื่อรองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โ
โดยในไตรมาสนี้บริษัทฯและบริษัทย่อยมีเครื่องบินใช้งานอยู่ทั้งสิ้น 61 ลำ โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 11.4 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ่น 365.8% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นถึง 3,532.5% อตัราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) เฉลี่ย 77.0% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 9.9% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้ สิ้น 2.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,580%
สำหรับดำนการขนส่งสินค้ามีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) สูงกว่าปีก่อน 341.5% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) สูงกว่าปีก่อน 183.9% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์(Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 59.1% ขณะที่ปีก่อนเฉลี่ยเท่ากับ 91.9%
การฟื้นตัวของการเดินทางอย่างต่อเนื่องทำให้ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เที่ยวบินของบริษัทฯ มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 80.4% และเมื่อรวมผู้โดยสารต่างประเทศของสายการบินไทยสมายล์ด้วยแล้ว บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผู้โดยสารต่างประเทศรวมเฉลี่ยต่อวันจำนวน 21,557 คน คิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศทั้งหมดที่เดินทางเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิ มีส่วนแบ่งปริมาณการขนส่งสินค้าคิดเป็นสัดส่วน 28% ส่งผลให้รายได้รวมจากกิจกรรมการขนส่งปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับ 10,000 ล้านบาท และยังคงมีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในเดือน พ.ย.-ธ.ค.65 ในระดับที่สูงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินและเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่เพิ่มเติมในเส้นทาง สตอกโฮล์ม ไทเป โตเกียว (ฮาเนดะ) ฟุกุโอกะ ซัปโปโร นิวเดลี มุมไบ ไฮเดอราบัด กัลกัตตา เจดดาห์ สิงคโปร์ เมลเบิร์น กวางโจว และคุนหมิง เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางที่ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินทั้งโดยการนำเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ กลับมาให้บริการและจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาประจำการด้วยวิธีเช่าดำเนินการให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบิน และเพื่อบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ