โบรกฯแนะ"ซื้อ"DTAC เมื่ออ่อนตัว คาด Q1/51 กำไรสูงสุดจาก IC พลิกเป็นบวก

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 4, 2008 09:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          โบรกเกอร์ส่วนใหญ่แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) แต่ให้รอราคาอ่อนตัวหลังเหลือ upside น้อยไม่ถึง 10% คาดว่าไตรมาสแรกปี 51 จะมีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากค่า IC พลิกมาเป็นรายรับครั้งแรก, ภาษีนิติบุคคลจ่ายในอัตราปรับลดเหลือ 25% และแนวโน้มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนทั้งปีคาดว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้น 25-30% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5.84 พันล้านบาท 
อีกทั้ง มองว่าการที่บริษัทเริ่มพัฒนาระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิม(850 MHz)นำไปสู่การดำเนินธุรกิจจริงจัง หาก
กทช.เปิดให้ใบอนุญาต 3G ที่คาดในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ก็จะทำให้ธุรกิจก้าวกระโดด
ราคาปิดเมื่อ 3 เม.ย.51 อยู่ที่ 47.00 บาท บวก 0.25 บาท (+0.53%)โดยตั้งแต่ต้นปี 51 ราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 49.50 บาท เมื่อ วันที่ 21 ก.พ.51
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)
บล.โกลเบล็ก ซื้อ 53.00
บล.ไซรัส ซื้อ 52.00
บล.ฟินันซ่า ซื้อ 50.00
บล.บีฟิท ซื้อ 51.00
บล.กรุงศรีอยุธยา ซื้อเมื่ออ่อนตัว 48.00
บล.ยูไนเต็ด ซื้อเก็งกำไร 51.86
บล.เกียรตินาคิน ซื้อเมื่ออ่อนตัว 49.00
บล.นครหลวงไทย ถือ 50.61
น.ส.จิตรา อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไซรัส คาดว่า กำไรสุทธิในไตรมาส 1/51 ของ DTAC จะสูงถึง 1,946.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 24.9% จากปีก่อนซึ่งเป็นกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สาเหตุสำคัญ คือ ได้ปรับลดภาษีนิติบุคคล หลังจากเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจ่ายในอัตรา 25% จาก 30%
และค่าใช้จ่ายค่า Interconnection Charge(IC)ลดลงปีก่อนที่มีรายจ่าย IC สุทธิ จำนวน 4 พันล้านบาท แต่ปีนี้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปีที่แล้วถือเป็นปีทดลองการจัดเก็บค่า IC ของทุกราย ส่วนในปีนี้จะมีการปรับกลยุทธในด้านโปรโมชั่น ซึ่งในไตรมาส 1/51 DTAC คงจะเป็นฝ่ายรับค่า IC สุทธิ เนื่องจากโดยมีการปรับขึ้นราคาค่าโทรนอกโครงข่าย ก็ทำให้คนโทรนอกโครงข่ายน้อยลง และก็ขึ้นกับโปรโมชั่น่ของคู่แข่งด้วย
"ราคาดีดขึ้นไปเยอะ DTAC มี upside ไม่ถึง 10% คงแนะนำ รอซื้อตอนอ่อนตัวดีกว่า เพราะตั้งแต่ต้นปีราคาขึ้นไปสูง จากปีที่แล้วที่ underperform และปีนี้ทุกคนมองว่า กำไรของ DTAC ก็จะโตมาก ซึ่งก็จริงๆ และโตมากที่สุดเมื่อเทียบกับ 3 โอเปอเรเตอร์ ไม่ได้โตแบบคุณภาพ แต่มีแต้มต่อที่ได้ลดภาษี ได้ลดค่า Interconnection" น.ส.จิตรา กล่าว
สำหรับการลงทุนและให้บริการ 3G มองว่าจะไม่มีเอกชนรายใดลงทุนภายใต้สัญญาสัมปทานเดิม เพราะจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้และยังต้องลงทุนอีก แต่จะรอรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) อย่างไรก็ตาม มองว่าปลายปีนี้ที่อาจจะเกิด 3G เป็นการทดลองในพื้นที่จำกัด หรือทดลองเฉพาะเมืองใหญ่ เป็นการตอบสนองนโยบาย รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)
นักวิเคราะห์จาก บล.กรุงศรีอยุธยา มองว่า DTAC ในแง่พื้นฐานน่าสนใจ เพราะคาดว่าปีนี้กำไรจะโตได้ประมาณ 30% จากปีก่อน ถือว่าเติบโตในอัตราที่สูงมาก เพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายโครงข่ายลดลง โดยปีนี้การบริหารโครงข่ายน่าจะดีขึ้น คาดว่าทั้งปีรายจ่าย IC น่าจะลดลง แต่ไตรมาส 1/51 น่าจะเป็นรายรับ ซึ่งเอไอเอส ออกโปรโมชั่นโทรถูกทั้งในและนอกเครือข่าย ทำให้รายรับ IC ของ DTAC ดีขึ้น
อีกเรื่องหนึ่ง คือ การปรับขึ้นค่าบริการแอร์ไทม์ซึ่งแนวโน้มผู้บริหารทุกรายก็ต้องการขึ้นค่าแอร์ไทม์ในปีนี้ แต่พอต้นปี รมว.พาณิชย์กลับเบรกการปรับขึ้นราคา
"ในแง่การเติบโต DTAC จะดีที่สุด แต่ราคาขึ้นมามากแล้ว ค่อนข้างมี upside น้อยแล้ว ถ้าจะซื้อน่าจะรอให้อ่อนตัวก่อน" นักวิเคราะห์ กล่าว
บทวิเคราะห์ของ บล.นครหลวงไทย ระบุว่า ผลการดำเนินงาน DTAC ใน Q1/51 คาดจะมีกำไรสุทธิสูงถึง 2,029 ล้านบาท เติบโต 27.8% จากไตรมาสก่อน จากค่าเชื่อมโยงโครงข่าย(IC)เปลี่ยนจากการจ่ายสุทธิพลิกไปสู่การเป็นรายรับสุทธิ, ต้นทุนในการขายและบริหารที่ลดลง 17.2% จากไตรมาสก่อน จากการไม่มีรายจ่ายด้านการปรับภาพลักษณ์ในไตรมาสนี้
นอกจากนี้ ฐานลูกค้าที่คาดจะเพิ่มขึ้นอีก 6.4% และ ลูกค้าโปรโมชั่นต่ำหมดอายุไปกว่า 2 ล้านเลขหมาย ซึ่งจะถูกปรับราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น
ฉะนั้น ปรับประมาณการผลประกอบการขึ้นเพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานที่ดีกว่าคาดไว้มากในปี 2551 อย่างไรก็ดีราคาหุ้นได้สะท้อนผลการดำเนินงานบนสัมปทานเดิมไว้ ซึ่งให้บริการด้านเสียงไว้แล้ว จึงคงคำแนะนำ “ถือ"
ส่วนบล.ฟินันซ่า คาดรายได้จากการให้บริการของ DTAC ในไตรมาส 1/51 เป็น 1.29 หมื่นลบ.โดยลูกค้าใหม่ (Net Adds) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 8 แสนคน และรายได้เฉลี่ยต่อหมายเลข (Blended ARPU) ยังลดลง 2.5% จากไตรมาสก่อน เหลือ 260 บาท ขณะที่รายได้ค่าเชื่อมโยงเครือข่าย(IC)คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
DTAC ยังอยู่ระหว่างขออนุญาตนำเข้าโครงข่ายและอุปกรณ์ 3G กับ กทช.(ผ่าน CAT)เพื่อพัฒนาระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิม(850 MHz)เชื่อว่ามีเป้าหมายเพื่อภาพลักษณ์ทางการตลาดเป็นสำคัญ หลัง ADVANC ได้รับอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ไปก่อนหน้าแล้ว เพราะยังต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้เท่าเดิมที่ 25% โดยการลงทุนครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นอีกครั้งหลังได้รับใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2,100 MHz และส่งผลให้ Regulatory Cost ลดลงเหลือเพียง 7-8% ซึ่งกทช.คาดว่าจะสามารถคลอดหลักเกณฑ์เบื้องต้น 3G ได้ภายในครึ่งหลังปี 51
ดังนั้น แม้ราคาหุ้นจะปรับขึ้นต่อเนื่องจากต้นปีจนเหลือ Upside เพียง 7% แต่ยังให้ “ซื้อ" เพราะกำไรในไตรมาส 1/51 โดดเด่น และคาดกำไรปกติปี 51 โตถึง 51.6% เป็น 8.8 พันล้านบาท และ มี Upside จากใบอนุญาต 3G ซึ่งจะทำให้เป้าหมายขยับขึ้นได้ถึง 60 บาท/หุ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ