นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้ บล.เอเชีย เวลท์ (AWS) หยุดการประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราว เนื่องจากพบว่าบริษัทนำเงินของลูกค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยลูกค้าไม่ได้มีคำสั่งหรือยินยอมนั้น
จากคำสั่งของ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงสั่งระงับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จาก AWS เป็นการชั่วคราว ในส่วนของตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก็จะอนุญาตให้เฉพาะคำสั่งซื้อขายที่เป็นการล้างสถานะที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ จนกว่าสำนักงาน ก.ล.ต. จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ในส่วนของหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อหรือขายหุ้นกับ AWS ได้ แต่ผู้ลงทุนสามารถขอโอนหุ้นที่ฝากกับ AWS ไปฝากยังบัญชีของตนที่เปิดกับโบรกเกอร์อื่นเพื่อซื้อขายต่อได้ กรณีไม่มีบัญชีที่โบรกเกอร์อื่นสามารถโอนเข้าบัญชี Issuer Account (600) ที่ TSD ได้ และเมื่อเปิดบัญชีที่บริษัทหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้วก็สามารถที่จะโอนหุ้นจากบัญชี 600 ไปซื้อขายต่อไป
ส่วนของอนุพันธ์ ลูกค้าสามารถส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อปิดสถานะได้เท่านั้น ไม่สามารถเปิดสถานะได้ หากลูกค้าปิดสถานะแล้ว ลูกค้าก็สามารถที่จะขอถอนหลักประกันออกไปได้ตามปกติ กรณีลูกค้าไม่ประสงค์จะปิดสถานะแต่ต้องการโอนไปซื้อขายต่อที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ตนมีบัญชีอยู่ก็สามารถแจ้งต่อบริษัทหลักทรัพย์ได้เช่นกัน
เหตุการณ์นี้ เป็นเหตุเฉพาะรายบริษัทหลักทรัพย์ AWS เท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทหลักทรัพย์รายอื่น ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์อื่นยังให้บริการตามปกติ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการติดตามฐานะการเงินของบริษัทหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด
นายภากร กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง และเป็นเหตุสุดวิสัย สิ่งที่เราพยายามแก้ปัญหาต้องพยายามแก้ทีละส่วน โดยส่วนแรกต้องจับให้ได้ก่อนว่า ใครโกง ใครฉ้อโกง ใครปั่นหุ้น ส่วนที่ 2 คือ ใครทำอะไรไม่ถูกต้องในปัจจุบัน และในส่วนที่ 3 คือ ในอนาคตคือจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีกได้อย่างไร
"เราได้ให้คำมั่นเลยว่าเราจะมาดูจุดอ่อนจุดรั่วที่มีขึ้น และจะมีการแก้ไข แต่เราไม่สามารถทำพร้อมกัน เหมือนไฟไหม้บ้าน สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ดับไฟก่อน หลังจากนั้นถึงจะมาวางแผนสร้างบ้านใหม่ที่มีระบบดับเพลิงระบบต่าง ๆ ที่ดีพร้อมขึ้น ฝากให้ค่อย ๆ ดูว่าสิ่งที่เราพยายามทำจะสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนให้กลับมาอย่างไร"นายภากร กล่าว
นายภากร ยังกล่าวอีกว่า "เคสนี้ไม่ได้ใหญ่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอะไรที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ เป็นการโกงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้บริษัทหลักทรัพย์เตรียมตัวไม่ทัน"
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) กล่าวว่า การนำเงินของลูกค้าเข้าบัญชีเป็นเกณฑ์ปกติที่จะต้องแยกทรัพย์สินลูกค้าออกจากบริษัท ซึ่งทุกบริษัทต้องดำเนินการเหมือนกัน และมีการตรวจสอบจากทางการตลอดเวลา ดังนั้น กรณีของ AWS เป็นเรื่องเฉพาะตัวของบริษัทที่ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ในการนำเงินของลูกค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งสมาคมฯ ยืนยันว่าทุกบริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติเป็นปกติในการดูแลทรัพย์สินของลูกค้า
การเปิดข้อมูลเงินกองทุน (NC) ของแต่ละโบรกเกอร์เพื่อให้เห็นสถานะทางการเงินนั้น ไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ของทางการ และสูตรคำนวณมีความซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้นมีความอ่อนไหวในการเปิดเผยพอสมควร ซึ่งอาจจะสร้างความไม่เข้าใจให้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เนื่องจากจะมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี่อาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องความเชื่อมั่นได้มากนัก แต่เราต้องมั่นใจว่าผู้กำกับดูแลทำงานมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว
"การที่มีบริษัท 1 บริษัททำไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ คงไม่ใช่ภาระหน้าที่ของสมาคม ผมคิดว่าทุกธุรกิจมีบริษัทที่อาจจะมีข้อผิดพลาด ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ทุกอุตสาหกรรมมีเกิดขึ้นได้ คงไม่มีใครสามารถการันตีได้ แต่ในเชิงสมาคม เราได้พูดคุยกันตลอดเวลา และได้พูดคุยกับผู้กำกับดูแลในการที่จะปรับกฎเกณฑ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนมาโดยตลอด"นายพิเชษฐ์ กล่าว