รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า การออกคำสั่งอายัดทรัพย์เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดฉ้อโกงจากการซื้อขายหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) วงเงินกว่า 5.3 พันล้านบาท เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน สืบเนื่องจาก บล.เกียรตินาคินภัทร เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับนายอภิมุข บำรุงวงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ MORE และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้หลอกลวงให้หลงเชื่อว่าจะชำระค่าหุ้น MORE และ MORE-R จึงทำให้ซึ่ง บล.เกียรตินาคินภัทร อนุมัติสินเชื่อให้
จากนั้น ในวันที่ 10 พ.ย.นายอภิมุข ได้ตั้งคำสั่งซื้อหุ้น MORE และ MORE-R จำนวนมากก่อนตลาดหุ้นจะเปิดทำการผ่านระบบ Automatic Order Matchnig (AOM) โดยส่งคำสั่งไปยังบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หลายแห่งที่เป็นนายหน้าของนายอภิมุขในราคาสูงกว่าราคาปิดตลาดในวันก่อนหน้า แต่เมื่อครบกำหนดกลับไม่ชำระค่าหุ้นดังกล่าว
จากการสืบสวนของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ยังพบนายอภิมุข และผู้เกี่ยวข้อง 24 ราย ตั้งคำสั่งซื้อขายในลักษณะเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่าให้ซื้อขายในราคาเปิดตลาด และยังพบว่าคำสั่งซื้อขายของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายอภิมุขมีหลายเลข IP ตรงกับคำสั่งซื้อขายของนายอภิมุข และอยู่ในสถานที่เดียวกัน
สำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้องมีตั้งแต่ญาติและเพื่อนของนายอภิมุข ผู้ถือหุ้นใหญ่ MORE รวมถึงเครือญาติและเพื่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอดีตผู้ถือหุ้นและผู้บริหารตั้งแต่สมัยที่เป็น บมจ.ดีเอ็นเอ 2002 (DNA) ซึ่งเป็นชื่อเดิมของ MORE รวมทั้งผู้บริหารของ บมจ.เฮลท์ เอ็มไพร์ คอร์ปอเรชั่น (HEMP) นอกจากนั้น ยังมีเครือ บมจ.ตงฮั้ว (TH)
เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังพบว่า พฤติกรรมของนายอภิมุขกับพวกไม่ได้ตั้งใจจะชำระค่าหุ้น MORE และ MORE-R ตั้งแต่ต้น และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องก็มีส่วนรู้เห็นและร่วมกันวางแผน และจะได้รับเงินจากการขายหุ้น MORE และ MORE-R โดยมีเจตนาเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับ บล.หลายแห่งเพื่อให้ได้วงเงินในการซื้อหุ้น MORE และ MORE-R แต่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และมี เจตนาหลีกเลี่ยงการทำรายการซื้อขายที่ต้องอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์ โดยทำการซื้อขายในลักษณะ Big Lot ที่อาจทำให้ผู้ซื้อถือครองหุ้นข้ามเส้น 25% และมีเจตนาปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือหุ้นของตนเอง ซึ่งเป็นเจตนาหลีกเลี่ยงการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ซึ่งทำให้นักลงทุนทั่วไปเสียประโยชน์และมีความเสียหาย
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายอภิมุขพร้อมพวกได้ไปซึ่งสินทรัพย์จากการกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ได้รับคำร้องทุกข์ไว้เป็นคดีอาญา
สำหรับทรัพย์สินที่อายัดไว้อยู่ภายใต้การดูแลของ บล. 15 บริษัท โดยเฉพาะเงินหรือหุ้นของนายอภิมุขที่ซื้อต่อเนื่องจากการขายหุ้น MORE และ MORE-R ใน บล. 2 แห่ง มูลค่าราว 444 ล้านบาท รวมถึงบัญชีของผู้เกี่ยวข้อง รวม 34 รายการ มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 5,376 ล้านบาท