DTAC ปรับขึ้น 2.48% หรือเพิ่มขึ้น 1.00 บาท มาที่ 41.25 บาท มูลค่าซื้อาย 107.28 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.00 น.ส่วน TRUE ปรับขึ้น 0.87% หรือเพิ่มขึ้น 0.04 บาท มาที่ 4.64 บาท มูลค่าซื้อขาย 61.66 ล้านบาท
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บมจ.โทเทิ่ล แอ็สเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) แจ้งตลาดฯ บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด และ Citrine Venture SG Pte Ltd ยกเลิกการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ DTAC และ TRUE โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขบังคับก่อน เนื่องจากเงื่อนไขฯ ยังไม่สำเร็จครบถ้วนภายในกรอบเวลา 1 ปี อย่างไรก็ดี DTAC และ TRUE จะยังดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมต่อไป
บล.ดาโอ ประเมินว่า ประเด็นนี้สร้าง negative sentiment ต่อ TRUE และ DTAC หลังไม่มีราคา tender offer แต่ปัจจัยพื้นฐานยังไม่เปลี่ยน กระบวนการควบรวมยังคงดำเนินต่อไป โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดเงื่อนไขหลังการควบรวมกับ กสทช. คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/66
โดยแนะ DTAC ถือ ให้เป้า 27.00 บาท ส่วน TRUE consensus เป้า 5.37 บาท
ด้านบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุว่า หลังจาก TRUE และ DTAC แจ้งยกเลิกทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจ (VTO) เนื่องจากเกินกำหนดเวลา 1 ปี ส่งผลให้ราคาหุ้น TRUE ลดลง 7.6% แต่ทาง TRUE และ DTAC ยังยืนยันเดินหน้าควบรวมกิจการต่อ โดยราคาหุ้นที่ลดลงทำให้มีอัพไซด์ต่อราคาเป้าหมายหลังการควบรวมกิจการของเราเพิ่มขึ้น
เมย์แบงก์ ปรับเพิ่มคำแนะนำ TRUE จาก "ถือ" เป็น "ซื้อ" เนื่องจากมีโอกาสให้ผลตอบแทนรวมที่ 10.2% (อัพไซด์ 8.7% ต่อราคาเป้าหมาย 5.0 บาท และอัตราผลตอบแทนเงินปันผล +1.5% ในปี 66) ปัจจัยบวกที่อาจจะหนุนราคาหุ้นคือการประกาศมูลค่า synergy โดยทีมผู้บริหารของบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/66 เราเชื่อว่าราคาหุ้น TRUE และ DTAC ที่ลดลง 7.6% และ 10.0% ตามลำดับได้สะท้อนประเด็นการยกเลิก VTO ไปส่วนใหญ่แล้ว
เราประเมินว่า Citrine ได้ตั้งงบประมาณไว้ 2.16-3.61 หมื่นล้านบาทสำหรับ VTO ซึ่งคิดเป็น 8-13% ของมูลค่าตลาดรวมของ TRUE และ DTAC ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน (วันก่อนการยกเลิก VTO)
อย่างไรก็ตาม เรายังคงชอบ DTAC มากกว่า TRUE เนื่องจากมี upside ต่อราคาเป้าหมายสูงกว่า (DTAC มีอัพไซด์ 27.0% ส่วน TRUE มีอัพไซด์ 8.7%)
วานนี้ ราคาหุ้น TRUE ปิดที่ 4.60 บาท และ DTAC ปิดที่ 40.25 บาท