นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายสื่อสารองค์กรและเครือข่ายตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นำเสนอบทความเรื่อง ก.ล.ต. กับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานกลางเพื่อมุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัล (ตอน 2) ว่า ในคราวที่แล้วผู้เขียนได้เล่าถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) ของตลาดทุนไทยที่สำนักงาน ก.ล.ต.ได้พัฒนาร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันตลาดทุนไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลที่มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบ (ก.ล.ต. การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง เพื่อมุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัล ตอนที่ 1)
ในบทความครั้งนี้จะเล่าถึงความคืบหน้าของการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือกันเพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาต่าง ๆ ความต้องการของผู้ใช้งาน และพัฒนาระบบภายใต้โครงการ Digital Infrastructure ในระยะแรกที่เรียกว่าระบบ "Web Portal"
ระบบ Web Portal เปรียบเสมือนประตูที่จะนำไปสู่ถนนกลางของระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ของตลาดทุนไทย ซึ่งตามแผนการพัฒนาในระยะแรกจะสามารถรองรับธุรกรรมในตลาดตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้เอกชนทั่วไปที่ไม่มีความซับซ้อน (plain vanilla) และรองรับการจัดการข้อมูลในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมตราสารหนี้ในตลาดแรก โดยครอบคลุมกระบวนการต่าง ๆ ดังนี้
1. การออกและเสนอขายตราสารหนี้ (Bond filing) ผู้ที่ประสงค์จะออกและเสนอขายตราสารหนี้ หรือเรียกว่า issuer ต้องยื่นข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติจาก ก.ล.ต. ผ่านระบบ
2. การขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA Bond Registration) เมื่อตราสารหนี้ได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้ว ระบบจะนำส่งข้อมูลให้ ThaiBMA เพื่อการขึ้นทะเบียนและออก Bond Symbol
3. การรับจองซื้อหลักทรัพย์ (Subscription) ระบบจะช่วยรวบรวมข้อมูลการจองซื้อและจัดสรรตราสารหนี้ของผู้ลงทุนกับผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์แต่ละรายเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน
4. การจัดทำทะเบียนหลักทรัพย์ (Bond Registration) ระบบจะช่วยรวบรวมข้อมูลการจัดสรรตราสารหนี้ของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์เพื่อนำส่งให้นายทะเบียนเพื่อนำไปจัดทำทะเบียนผู้ถือตราสารหนี้
5. การฝากตราสารหนี้บนระบบไร้ใบ (Scripless Crediting) ในขั้นตอนนี้ระบบจะนำส่งข้อมูลตราสารหนี้หลังจากที่ได้ทำทะเบียนแล้วให้ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (Depository) เพื่อนำฝากตราสารหนี้เข้าสู่ระบบ scripless ซึ่งผู้ลงทุนถือครองหลักทรัพย์ในรูปแบบที่ไม่มีใบหลักทรัพย์
6. การรายงานภายหลังการขาย (Post sales report) เมื่อกระบวนการขายข้างต้นเสร็จสิ้น ระบบจะส่งข้อมูลรายงานผลการขายต่อ ก.ล.ต. โดยอัตโนมัติ
ระบบ Web Portal จะเปลี่ยนกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ออกตราสารหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นแบบดิจิทัล โดยปรับปรุงการจัดการข้อมูลจากเดิมที่อยู่ในรูปกระดาษให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้ชุดข้อมูล (standard file format) ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรมทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปประมวลผลต่อได้ ปรับปรุงการลงนามจากเดิมที่ใช้ปากกาเป็นการลงนามแบบ e-signature ที่มีความปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างข้อมูลแบบอัตโนมัติ (auto-generated report) เพื่อลดภาระในการจัดทำข้อมูลต่าง ๆ
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบ Web Portal คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2566 และเพื่อให้มั่นใจในความพร้อมใช้งานของระบบดังกล่าว จะมีการทดสอบระบบทั้งในด้านเทคนิคและด้านการใช้งานจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าระบบต่าง ๆ ทำงานร่วมกันได้อย่างถูกต้อง หลังจากนั้นจะเปิดให้ผู้ใช้งานจริงเข้าใช้ได้ภายใต้โครงการ Sandbox ของ ก.ล.ต. ต่อไป
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้มีการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับกลุ่มผู้ออกหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการให้สามารถทดสอบการให้บริการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการปฏิบัติงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมพัฒนาระบบ สามารถยื่นความประสงค์ในการขอเริ่มทดสอบได้ โดยจะมีระยะเวลา 1 ปี ในการให้บริการภายใต้โครงการ Sandbox หลังจากที่ ก.ล.ต. อนุมัติให้มีการเริ่มทดสอบระบบ
เมื่อการทดสอบให้บริการในระยะแรกแล้วเสร็จ ในระยะถัดไประบบ Web Portal จะพัฒนาขยายการให้บริการรองรับตราสารหนี้ประเภทที่มีความซับซ้อน โดยเมื่อสามารถให้บริการครอบคลุมตราสารหนี้ทุกประเภทแล้ว ก็จะเปิดให้บริการกับผู้ใช้งานจริงในวงกว้าง ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการขยายระบบให้ครอบคลุมถึงการทำธุรกรรมในตลาดรอง ตลอดจนหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ต่อไป