AURA ปิดเทรดวันแรกที่ 14.70 บาท เพิ่มขึ้น 3.80 บาท (+34.86%) จากราคา IPO 10.90 บาท มูลค่าซื้อขาย 5,394.13 ล้านบาท จากราคาเปิด 13.90 บาท ราคาสูงสุด 14.80 บาท ราคาต่ำสุด 13.60 บาท
บล.ทิสโก้ ประเมินมูลค่ากิจการ บมจ.ออโรร่า ดีไซน์ (AURA) ที่ 13.8 บาท หรือมูลค่าตลาด 18,379 ล้านบาท บน EPS ปี 2023F ที่ 0.71 บาท/หุ้น โดยใช้ P/E ที่ 19.4x โดย discount 15% จากค่าเฉลี่ยกลุ่มค้าปลีกในประเทศไทยที่ 22.8x เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของธุรกิจที่มีมากกว่าทั้งในแง่ของสินค้าที่มีลักษณะเป็นโภคภัณฑ์, การดำเนินงานที่ต้องอาศัยใบอนุญาตและประสิทธิภาพการทำกำไรที่ต่ำกว่ากลุ่ม
AURA ประกอบธุรกิจค้าปลีกทองรูปพรรณ เครื่องประดับเพชรและอัญมณีแบบครบวงจร รวมถึงการขาย รับซื้อคืน รับขายฝากสินค้า และบริการหลังการขาย โดยเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 50 ปี และเป็นหนึ่งในผู้เริ่มการขายทองรูปพรรณในห้างสรรพสินค้าที่มีการเติบโตผ่านการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องจน ณ 30 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 265 สาขา AURA ตั้งเป้าการเติบโตผ่านการขยายสาขาเป็น 409 สาขา และพอร์ตลูกหนี้ขายฝากที่ 3,846 ล้านบาท (จาก ณ 30 มิถุนายน 2565 ที่ 1,789 ล้านบาท) ในปี 2567 โดยอาศัยฐานข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้ากว่า 6.5 แสนราย และบริการออนไลน์กว่า 6 แพลตฟอร์ม
แนวโน้มเติบโตจากช่องว่างในตลาดที่ยังมีอยู่อีกมากในขณะที่โมเดลธุรกิจมีความเสี่ยงต่ำ แม้แนวโน้มราคาทองคำในตลาดโลกอาจไม่ใช่แนวโน้มขาขึ้นเหมือนในปี 2562-2564 แต่โมเดลธุรกิจสามารถทำกำไรได้ทุกช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคาทอง อีกทั้งเราเชื่อว่า AURA ยังมีโอกาสในการเติบโตจากฐานต่ำในปีก่อนและการขยายสาขาเพื่อเพิ่มปริมาณการขายของธุรกิจหลักที่คู่แข่งส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก (ร้านค้าทองราว 8,911 ราย อ้างอิงจาก GIT)และอยู่แบบกระจุกตัวโดยการใช้กลยุทธ์ด้านราคาและมาตรฐานที่ดีกว่า ในขณะที่ยังมีความน่าสนใจจากการเติบโตก้าวกระโดดของธุรกิจขายฝากที่ตั้งเป้าแย่งสวนแบ่งลูกหนี้จากโรงรับจำนำที่มีมูลค่าสูงกว่า 8 หมื่นล้านบาทเป็นตัวเร่งกำไรสุทธิ โดยมีจุดเด่นคือสามารถนำทองรูปพรรณที่เป็นหลักประกันไปเป็นสินค้าคงเหลือได้เลยโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายเหมือนโรงรับจำนำ และในอดีตไม่มีการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิต (ECL: Expected credit loss)
บล.ทิสโก้ ประเมินกำไรสุทธิจะเติบโตสู่ระดับ 714, 948 และ 1,186 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตที่ 22%, 33% และ 25% YoY ในปี 2565-2567 ตามลำดับ หลักๆมาจาก 1)รายได้หลักที่เติบโตขึ้น 19% CAGR ตามแผนการขยายสาขาเป็น 409 สาขา (จาก 265 ใน 2Q22) 2)รายได้ดอกเบี้ยรับที่จะเติบโตก้าวกระโดดจาก 228 ล้านบาทในปี 2022F เป็น 417 ล้านบาท และ 3)ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินคาดว่าจะคงที่หรือลดลงได้เล็กน้อยหลักจากการระดมทุนเข้าตลาดและทยอยจ่ายคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน ส่งผลให้เรามองว่า NPM จะปรับตัวสูงขึ้นจาก 2.7% ในปี 2565 เป็น 3.1% และ 3.2% ในปี 2566-2567 ตามลำดับ