GPSC ดึงกองทุนใหญ่เดนมาร์กร่วมทุนเสริมแกร่งรุกธุรกิจพลังงานลมหวังขึ้นผู้นำในไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 30, 2022 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

GPSC ดึงกองทุนใหญ่เดนมาร์กร่วมทุนเสริมแกร่งรุกธุรกิจพลังงานลมหวังขึ้นผู้นำในไทย

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า วานนี้บริษัทลงนามสัญญาร่วมทุนในการพัฒนาโครงการพลังงานลม (Joint Venture Agreement) กับกลุ่ม Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) ผ่านกองทุน CI NMF I Cooperatief U.A. (CI NMF I)โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโอกาสการลงทุนในพลังงานลม และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานลม โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายในประเทศ โดย GPSC จะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนดังกล่าว รวมทั้งในแต่ละโครงการ ในสัดส่วน 51%

การร่วมทุนทางธุรกิจในครั้งนี้เป็นการผนึกความแข็งแกร่งของทั้งสองกลุ่มบริษัท โดย CIP เป็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ก และเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่มีทรัพย์สินภายใต้การบริหารในหลายภูมิภาคทั่วโลก รวมถึง สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐอินเดีย ไต้หวัน และประเทศอื่นๆ ขณะที่ GPSC มีความชำนาญในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าพลงังานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ

ดังนั้น การร่วมทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานลมของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัทในการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2060 นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อตอบรับกับโอกาสในการลงทุนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2022 ของกลุ่มบริษัทฯ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ย.65 กองทุน CI NMF I ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น (Shared Purchase Agreement) ในสัดส่วนการถือหุ้น 49% ใน บริษัท ยูรัสพลัส จำกัด และ บริษัท โบรีพลัส จำกัด (ซึ่งเดิมเป็นบริษัทย่อยที่ GPSC ถือหุ้นทั้ง 100%) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าร่วมยื่นขอผลิตไฟฟ้าตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า การร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกันในครั้งนี้ เป็นการผนึกความแข็งแกร่งของทั้งสองกลุ่มบริษัท เนื่องจาก CIP เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในการพัฒนาโครงการพลังงานลมทั้งด้านการสำรวจพื้นที่ทีมีศักยภาพ การบริหารโครงการก่อสร้าง และการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรเป็นผู้ผลิตกังหันลมที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก ทำให้สามารถต่อยอดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมภายในประเทศ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับ GPSC และประเทศไทยได้

การร่วมทุนดังกล่าว จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานลมของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อรองรับโอกาสในการลงทุนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2022) รวมถึงการพัฒนาโครงการพลังงานลม ซึ่งจะนำมาสู่การขับเคลื่อนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ GPSC ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% ในปี 2573 ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานเพื่อความยั่งยืน พร้อมกันกับการก้าวสู่นวัตกรรมพลังงาน เพื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2060

ก่อนหน้านี้ GPSC ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ศึกษาและพัฒนาพื้นที่เพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าของพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักยภาพสูงด้านพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ดังนั้น การร่วมทุนกับ CI NMF I ในครั้งนี้ จะสนับสนุนการสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียนใหม่ และที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการคือ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยโดยการต่อยอดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนนโยบายของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ ภายในปี ค.ศ. 2065


แท็ก gps  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ