นายกิตติพันธ์ ภูษณวรรณ กรรมการผู้จัดการอาวุโส บล.โกลเบล็ก ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญของ บมจ.ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ (DTCENT) เปิดเผยว่า DTCENT กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 305 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.86 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 46.78 เท่า ซึ่งถือเป็นราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ
บริษัทจะเปิดให้จองซื้อหุ้น IPO ระหว่างวันที่ 1-2 และ 6 ธ.ค.65 และคาดว่า จะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 15 ธ.ค.65 ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายคือ "DTCENT" ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)
"การกำหนดราคาไอพีโอที่ระดับ 2.86 บาทต่อหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของ DTCENT และด้วยผลประกอบการที่มีความสามารถในการทำกำไรได้ดีอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มธุรกิจที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต"นายกิตติพันธ์ กล่าว
สำหรับผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ในครั้งนี้ ประกอบด้วย บล.เอเอสแอล บล.ฟินันเซีย ไซรัส และ บล.พาย
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ที่ปรึกษาทางการเงิน DTCENT กล่าวว่า DTCENT ถือเป็นหุ้นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ เพราะมีจุดเด่นคือ การเป็นผู้นำระบบติดตามยานพาหนะ GPS Tracking อันดับ 1 ในประเทศไทย (อ้างอิงจากข้อมูลกรมการขนส่งทางบกในเดือน ม.ค.65) ประกอบกับผลประกอบการที่ผ่านมา มีการเติบโตต่อเนื่อง
รวมถึงผู้บริหารและทีมงานมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มากกว่า 25 ปี มีพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้ง บริษัท ยาซากิ เอ็นเนอร์จี ซิสเท็ม คอร์ปอเรชั่น (YES) ถือหุ้นใน DTCENT จำนวน 18% ก่อนการเสนอขายหุ้น IPO โดย YES จะร่วมพัฒนาให้ DTCENT เป็น Tier 1 Supplier ในการดำเนินธุรกิจ OEM สำหรับอุปกรณ์ GPS Tracking และ Telematics ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในส่วนของบริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด (BRS) ถือหุ้นจำนวน 15% ก่อนการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งถือเป็นพันธมิตรหลักที่จะเข้ามาส่งเสริมเพิ่มศักยภาพให้แก่บริษัทในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และพัฒนาผลิตภัณฑ์ Supply Chain Solutions ใหม่ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนและเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการโลจิสติกส์
นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจ IoT จากนโยบายของภาครัฐและความพร้อมของสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่แตกไลน์ออกมาจากธุรกิจ GPS ที่มีความมั่นคงแล้ว การเติบโตของธุรกิจ IoT จะช่วยให้ DTCENT เติบโตต่อไปได้อย่างก้าวกระโดด หลังจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีศักยภาพมากขึ้นอย่างชัดเจน
นายทศพล คุณะเพิ่มศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ DTCENT กล่าวว่า วัตถุประสงค์การเข้าระดมทุนในครั้งนี้เพื่อนำเงินไปใช้ลงทุนสร้างศูนย์บริหารจัดการและบริการข้อมูลยานพาหนะ (Vehicle Monitoring and Support Center) และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมทั้งใช้เป็นเงินลงทุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการขยายธุรกิจได้ในอนาคต
นอกจากธุรกิจ GPS Tracking แล้ว กลุ่มบริษัทมีแผนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเป็นระบบอัจฉริยะในกลุ่มงาน IoT ประกอบด้วย ระบบบริหารจัดการน้ำ, ระบบ SMART CITY SOLUTION หรือระบบบริหารการจัดการองค์กรส่วนท้องถิ่น, BAMS (Business Activity Management System), BIM (Building Information Modeling), EV Platform, Logistics Demand-Supply Matching Platform และระบบ AI สำหรับงาน IoT
ปัจจุบัน DTCENT มีบริษัทย่อย 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท วิศวกรรม ซอฟต์แวร์ จำกัด (WS) บริษัท ไทย ดิจิทัล แมพ จำกัด (TDM) และบริษัท ดี คอร์ ซิสเต็ม อินทริเกรเตอร์ จำกัด (DCORE) โดยถือหุ้นในสัดส่วน 90%, 95% และ 90% ตามลำดับ
"การระดมทุนในครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคู่ค้า ลูกค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีฐานทุนที่มั่นคงยิ่งกว่าเดิม และด้วยแนวโน้มของธุรกิจที่ยังสามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต จากความต้องการใช้บริการ GPS พร้อมด้วย การพัฒนากลุ่มงาน IoT เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น" นายทศพล กล่าว