นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ. ไทยพาณิชย์ (SCBAM) เปิดเผยว่า จากการเสนอขายกองทุน SCBDSHARC1YC เมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ที่สามารถตอบโจทย์การลงทุนให้กับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนในภาวะตลาดช่วงนี้ ด้วยจุดเด่นของกองทุนที่ผู้ลงทุนสามารถมีโอกาสการรับผลตอบแทน/ดอกเบี้ยได้จากการการลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากที่มีคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ จึงมีโอกาสช่วยลดความเสี่ยงการขาดทุนเงินต้น และมีโอกาสรับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการลงทุนในสัญญาออปชั่นที่จ่ายผลตอบแทนโดยอ้างอิงไปกับดัชนี SET50
โดยหากราคาสินทรัพย์อ้างอิงช่วงระหว่างอายุสัญญาออปชั่นปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลงไม่เกิน 10% (เมื่อเทียบกับราคาสินทรัพย์อ้างอิง ณ วันเริ่มต้นสัญญา) ก็จะมีโอกาสรับผลตอบแทนจากสัญญาออปชั่นสูงสุดที่ 5% หรือหากราคาสินทรัพย์อ้างอิงมีการปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลงในระดับที่มากกว่า 10% ก็ยังมีโอกาสรับผลตอบแทนชดเชยที่ 0.25% และเป็นกองทุนที่มีอายุเพียง 1 ปี จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางการลงทุนที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องได้
อีกทั้งตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับตลาดหุ้นโลก และเพื่อตอบรับกับความต้องการของนักลงทุน SCBAM จึงได้นำเสนอกองทุนในประเภทนี้เพิ่มเติม คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Double Structured Complex Return 1YE (SCBDSHARC1YE) ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย โดยจะเสนอขายระหว่างวันที่ 1 - 13 ธันวาคม 2565 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท
กองทุน SCBDSHARC1YE เป็นกองทุน Complex Fund ที่มีการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนซึ่งมีปัจจัยอ้างอิง มีความแตกต่างจากการลงทุนหรือใช้บริการผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนทั่วไป และยังคงมีความเสี่ยงผิดชำระหนี้ (default risk) ที่อาจเกิดขึ้นจากการผิดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร/เงินฝากที่อาจส่งผลให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนได้ โดยผู้ลงทุนจะไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ในช่วงเวลา 1 ปี
นางนันท์มนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าปีนี้ ไทยจะได้รับความกดดันจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากประเทศหลักอย่าง สหรัฐ ยุโรป และจีน รวมถึงเงินเฟ้อระดับสูงที่กระทบต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือนและต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ แต่ในช่วง 3Q65 ที่ผ่านมา GDP ของไทย ยังมีการขยายตัวถึง 4.5% YoY หลังจากที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ให้ได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การอุปโภคบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน จึงส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2565 เศรษฐกิจไทยเติบโต 3.1% YoY และยังมีสัญญาณการฟื้นตัวมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 4Q65 จาก Pent-up Demand ของการเดินทาง, การผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางทั่วโลก และ High season ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐฯหรือยุโรปที่เศรษฐกิจฟื้นตัวมาก่อนแล้ว และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ ในปี 2566 ตลาดการเงินจะยังมีความผันผวนต่อเนื่องอีกระยะ โดยความเสี่ยงภาวะถดถอยของเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จากความกังวลต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากเกินไป รวมถึงความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังคงตึงเครียด ด้านในประเทศเอง ภาวะหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี เรายังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2566 สอดคล้องกับ IMF ที่คาดการณ์ภาพรวมสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอาเซียนยังเห็นภาพสดใส และคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะเติบโตอยู่ที่4.9% และสำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยของปี 2566 คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในปีนี้ เป็น 3.7% ที่หนุนด้วยการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยว จึงเป็นจังหวะดีในการเข้าลงทุนในช่วงสิ้นปีนี้ เพื่อเตรียมรับโอกาสการเติบโตไปพร้อมกับตลาดหุ้นไทยปี 66 นอกจากนี้ IMF มองว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเติบโตประมาณ 2.7%และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา จะเติบโตประมาณ 1%, 0.5% และ 1.7% ตามลำดับ