นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างรอติดตามทิศทางเศรษฐกิจโลกให้มีความชัดเจนมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นตัวชี้แนวโน้มความต้องการยางในตลาด เพื่อรอจังหวะเหมาะสมในการขยายการลงทุน โดยเฉพาะในอนาคตเชื่อว่าผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม รายเล็กจะค่อยๆหายไปและเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายใหญ่
บริษัทได้เตรียมแผนงานล่วงหน้าด้วยการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการขยายกำลังการผลิตเป็น 1.2 ล้านตันในอนาคต เบื้องต้นบริษัทได้ขอ BOI ไว้แล้วสำหรับโรงงานใหม่จำนวน 3 แห่ง รวมกำลังการผลิตราว 600,000 ตัน ซึ่งตามกำหนดของ BOI จะต้องมีการลงทุนภายใน 2 ปีหลังจากได้รับใบอนุญาต และสามารถต่ออายุได้อีก 2 ปี
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมองโอกาสที่จะซื้อเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อเป็นอีกทางเลือกของการลงทุนที่สามารถคืนทุนได้เร็ว อีกทั้งจะช่วยลดจำนวนคู่แขงในตลาดลงด้วย แต่ข้อเสียก็คือต้องใช้ความรอบคอบอย่างมากในการพิจารณากิจการแต่ละแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการที่ตั้งมานานราว 30-40 ปีแล้ว
นายชูวิทย์ ระบุว่า NER มีฐานทุนที่แข็งแกร่งเพียงพอสำหรับการขยายลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยประเมินว่าหากเป็นการตั้งโรงงานใหม่จะต้องใช้เงินลงทุนแห่งละ 800 ล้านบาท หรือรวมราว 2,400 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีวงเงินที่สามารถออกหุ้นกู้ที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นไว้แล้ว 1,700 ล้านบาท กำไรสะสม 3-4 พันล้านบาท และยังมีวงเงินกู่ที่เปิดไว้กับสถาบันการแงินอีก 2,300 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.7 เท่า ขณะที่นโยบายของบริษัทจะรักษาไว้ไม่เกิน 2 เท่า และบริษัทมีเป้าหมายที่จะปรับอันดับเครดิตองค์กรมาอยู่ที่ระดับ "BBB" จากปัจจุบันอยู่ที่ "BBB-"
สำหรับแผนงานในปี 66 ได้วางเป้าหมายการเติบโตอย่างระมัดระวังท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนของโลก โดยตั้งงบลงทุนไว้ราว 400 ล้านบาท แบ่งใช้ 100 ล้านบาทปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตราว 15% ในช่วงเดือน เม.ย.66 15% ส่วนที่หลืออีกราว 300 ล้านบาท จะใช้ลงทุนงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งจะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมากขึ้นในปี 66
แนวโน้มผลประกอบการในปี 66 บริษัทตั้งเป้าปริมาณขาย 500,000 ตัน สร้างรายได้ราว 30,000 ล้านบาท จากปีนี้คาดว่าจะปิดยอดขายได้ราว 4.6 แสนตัน สร้างรายได้ 2.6-2.7 หมื่นล้านบาท กลยุทธ์หลักคือการบุกตลาดอินเดียเพิ่มขึ้น คาดว่าปริมาณการขายจะแตะ 50,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็น 10% ของพอร์ตรวมหลังเซ็นสัญญาลูกค้าใหม่เพิ่ม 5 ราย
"บริษัทฯเน้นเจาะลูกค้าใหม่ในอินเดียมากขึ้น หลังพบว่าอินเดียมีความต้องการใช้สินค้าค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งมาจากซัพพลายยางพาราในอินโดนีเซียหายออกไปจากตลาดกว่า 10% เนื่องจากอินโดนีเซียเจอปัญหายางพารายืนต้นตายจำนวนมาก ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา"นายชูวิทย์กล่าว
ขณะที่คาดว่าภาพรวมการส่งออกยางของ NER จะคล่องตัวมากขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ดีขึ้น และราคาขายคาดว่าจะดีขึ้นกว่าปี 65 แม้ว่าสถานการณ์ตลาดรถยนต์ที่เป็นผู้บริโภคล้อยางรายใหญ่ยังอาจต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนชิปต่อไปอีกระยะหนึ่ง
นอกจากนั้นตั้งแต่ไตรมาส 1/66 บริษัทจะเริ่มส่งออกแผ่นปูรองนอนปศุสัตว์อย่างเต็มรูปแบบ โดยขณะนี้มีออร์เดอร์แรกที่รอส่งให้ลูกค้าในญี่ปุ่นแล้ว 20 ตัน หลังจากได้ส่งสินค้าเข้าไปให้ลูกค้าทดลองใช้ และปรับการผลิตให้ได้ตามความต้องการ คาดว่าทั้งปี 66 จะมีรายได้ในส่วนนี้ 300 ล้านบาท จากปี 65 มีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ขณะที่อัตราการทำกำไรขั้นต้นสูงกว่าสินค้าหลักในปัจจุบัน
"ทุกคนมองธุรกิจยางปีหน้าอาจไม่โต ตามเศรษฐกิจของโลก แต่เราจะเน้นเจาะลูกค้าใหม่ในอินเดียมากขึ้น หลังพบว่าอินเดียมีความต้องการใช้สินค้าค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งมาจากซัพพลายยางพาราในอินโดนีเซียหายออกไปจากตลาดกว่า 10% เนื่องจากอินโดนีเซียเจอปัญหายางพารายืนต้นตายจำนวนมาก ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาด้านพลังงานเราก็มองหลายๆด้านเตรียมไว้ ซึ่งปัจจุบันเราเองมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็น ไบโอแมส 4 เมกะวัตต์ ส่วนของโซลาร์เซล 4 เมกะวัตต์ ก็ลดต้นทุนไปได้พอสมควร" นายชูวิทย์ กล่าว
นอกจากนี้บริษัทมีแผนการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเพิ่มกำลังผลิตสินค้ามากขึ้น รวมถึงมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาสินค้าสำเร็จรูป(สินค้าปลายน้ำ) ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มเปิดตัวสินค้าสำเร็จรูปในปี 66 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนยอดขายสินค้าปลายน้ำจะเติบโตขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มแผ่นปูที่ใช้ส่วนผสมของยางเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่บริษัทในระยะยาว