บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC)ร่วมแถลงอัดบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย(Hutch)อาศัยช่องว่างไม่ได้เข้าระบบจ่ายค่า IC ทำโปรโมชั่นราคาต่ำ ส่งผลให้ปริมาณโทรเข้า-ออก(ทราฟฟิก)สูงจนเกิดปัญหาการใช้งานขัดข้อง ไม่ใช่เกิดจากการบล็อกสัญญาณตามที่ Hutch ฟ้องศาลฯ
พร้อมกันนั้น ผู้ให้บริการทั้งสองรายยังเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)เข้ามาดูแลปัญหาดังกล่าวด้วยการดึง Hutch เข้าสู่ระบบ IC เช่นเดียวกับโอเปอเรเตอร์รายอื่น
นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ ADVANC เปิดเผยว่า การที่ Hutch ฟ้องร้องต่อศาลอาญาว่า เอไอเอสบล็อกสัญญาณการโทรระหว่างเครือข่ายนั้น ทางเอไอเอสยืนยันว่าไมได้บล็อกสัญญาณ แต่ทราฟฟิกเกิดมีปัญหาเนื่องจาก Hutch ได้ทำโปรโมชั่นโทรฟรีทุกเครือข่าย 24 ชม.ทำให้ทราฟฟิกในช่วง 19.00-22.00 น.มีปัญหาอย่างหนัก โดยเมื่อเทียบกับทราฟฟิกโดยปกติของฮัทช์ในเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นถึง 72%
อย่างไรก็ตาม ทางเอไอเอสก็พยายามแก้ไขปัญหาทางเทคนิคเพื่อไม่ให้เกิดติดขัดระหว่างโทร แต่การที่ Hutch ใช้ช่องว่างในการทำโปรโมชั้นดังกล่าว จากกรณีที่ไม่ต้องจ่ายค่า IC เหมือนรายอื่น ทำให้บริษัทต้องสูญเสียรายได้ทางบัญชีกว่า 400 ล้านบาท ดังนั้น เอไอเอสจึงต้องให้สิทธิการบริการคู่สัญญาที่จ่าย IC ระหว่างกันก่อน ประกอบกับทาง เอไอเอส ไม่มีการเชื่อมโครงข่ายโดยตรงกับ Hutchเลย ทำให้ระบบมีปัญหา
"การที่ Hutch ออกโปรโมชั่นดัมพ์ราคา ทำให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายมีปัญหาไม่ใช่แต่เอไอเอส และครั้งหนึ่งที่อุตสาหกรรมต่างดั๊มพ์ราคาและทำให้เกิดมีปัญหาทั้งระบบ เราก็มีการไกล่เกลี่ยระหว่างกันเอง ไม่ถือว่าเซอร์ไพรส์ที่นำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลอาญา ทั้งๆที่เราก็มีองค์กรกลางอย่าง กทช. ที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยอยู่แล้ว" นายวิเชียรกล่าว
ส่วนที่เอไอเอสจะฟ้อง Hutch กลับหรือไม่ ขณะนี้เป็นเรื่องทางกฎหมายที่ศึกษาแนวทาง แต่ก็ไม่อยากให้ปัญหาบานปลาย ซึ่งทางเอไอเอสก็พร้อมจะไกล่เกลี่ยกับผู้บริหารของ Hutch แต่ก็ต้องยอมรับว่า การกระทำของ Hutch ทำให้เอไอเอสเสื่อมเสียชื่อเสียง
อย่างไรก็ตาม เอไอเอส ต้องการให้กทช. กำหนดค่า IC ระหว่าง Hutch ซึ่งทางเอไอเอสได้สรุปต้นทุนค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC)ตั้งแต่ปลายปี 50 แต่ทางกทช.ยังไม่กำหนดอัตราออกมา ทำให้ผู้ให้บริการรายอื่นเสียเปรียบ ทั้งๆที่ Hutch ใช้โครงข่ายของโอเปอเรเตอร์ทุกราย ซึ่งทางเอไอเอส ก็พร้อมจะเซ็นสัญญาการใช้และเขื่อมต่อ IC กับ Hutch
สำหรับไตรมาส 1/51 ในเดือน ก.พ. 51 ถือเป็นครั้งแรกที่เอไอเอสต้องชำระค่า IC กับ DTAC ประมาณ 20 ล้านบาท เนื่องจากโปรโมชั่นเอไอเอสเอง
"การคิดค่าเชื่อมโยงโครงข่ายแบบ IC ถือว่าเป็นระบบที่ยุติธรรม ไม่ใช่ว่ามี network มากกว่าจะได้รับเงินจากโอเปอเรเตอร์อื่นอย่างเดียว เห็นได้จากเรา ที่เคยได้จาก DTAC กว่า 100 ล้านบาท ก็ลดลงมาอย่างเรื่อยๆ จนกระทั่ง ก.พ.ทีผ่านมา เราเริ่ม Pay out ให้ DTAC แล้ว" นายวิเชียร กล่าว
ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าววว่า ทาง DTAC ได้รับผลกระทบจากการที่ Hutch ออกโปรโมชั่นโทรฟรีทุกเครือข่าย และมีปัญหาช่วง Peak Hour เช่นเดียวกัน เพราะตั้งแต่มีโปรโมชั่น การโทรเข้า-ออกของ Hutch เพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัวจาก 22 ล้านนาทีต่อสัปดาห์ เพิ่มเป็น 42 ล้านนาทีต่อสัปดาห์ ทำให้เครือข่าย,uปัญหา และถึงแม้ DTAC จะมีการต่อตรงกับ Hutch บางส่วน ก็ไม่สามารถรองรับการโทรของ Hutch ได้หมด
ทาง DTAC เองก็ต้องการให้ กทช.กำหนดอัตราค่า IC ระหว่าง Hutch กับโอเปอเรเตอร์รายอื่น โดยทาง DTAC ได้คำนวณต้นทุนค่า IC ที่จะเก็บได้อัตรา 1 บาท/นาที ขณะที่ Hutch เสนอต้นทุน IC ที่ 0.21 บาท/นาที ซึ่งถือว่าถูกมาก และมองว่าไม่น่าจะเป็นต้นทุนดำเนินการได้ แต่ถ้าหากกทช. กำหนดต้นทุนที่ 0.21 บาท/นาที และทำให้ Hutch เข้าสู่ระบบ IC ได้ ทาง DTAC ก็ยินดีให้ความร่วมมือ
"ตอนนี้การแก้ปัญหาควรไปอยู่ที่หัวใจที่จะออกมาไกล่เกลี่ยและกำหนดราคาค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC) เพื่อให้ Hutch เข้าระบบ IC และ อาศัยช่องว่างที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ IC ทำโปรโมชั่นดัมพ์ราคาที่ส่งผลต่อโอเปอเรเตอร์เรายอื่น กทช.ในฐานะผู้ดูแล ต้องดูแลกำหนดค่า IC ระหว่าง Hutch กับรายอื่นให้เร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น"นายธนา กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--