ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกบทความ เรื่อง "ก.ล.ต. กับ ทิศทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล" โดยระบุว่า ในปี 2565 ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรม ตลอดจนทั้งผู้เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ลงทุน ตั้งแต่กรณีการล่มสลายของ LUNA และ TerraUSD (UST) ซึ่งเป็น Algorithmic stablecoin หรือเหรียญดิจิทัลที่มีการตรึงมูลค่าให้คงที่โดยใช้ algorithm
การล้มละลายของ hedge fund ที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง 3 Arrow Capital และ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรับฝากและกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Celsius ซึ่งส่งผลกระทบถึงลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย จนถึงกรณีการล่มสลายของแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล FTX ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก และทำให้เห็นถึงปัญหาของการขาดการบริหารจัดการและการควบคุมกิจการที่มีประสิทธิภาพ
จากเหตุการณ์ "มาไวไปไว" ที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มกลไกความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุน ซึ่งในปีที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ได้ประกาศแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยพิจารณาถึงศักยภาพของเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังของเหรียญดิจิทัล ประกอบกับแนวทางการป้องกันความเสี่ยงสำหรับสหรัฐอเมริกาช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับบังคับใช้หลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการโฆษณาสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการหลอกลวงหรือทำให้เกิดการเข้าใจผิด
ประเทศสิงคโปร์ : Monetary Authority of Singapore (MAS) มีนโยบายไม่สนับสนุนการเก็งกำไรในคริปโทเคอร์เรนซี แต่ไม่ปิดกั้นพัฒนาการทางเทคโนโลยี (Yes to Digital Asset Innovation, No to Cryptocurrency Speculation) โดยมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset ecosystem) และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี DLT ซึ่งถือเป็นวาระหลักในการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็น FinTech Hub
ทั้งนี้ MAS มุ่งเน้นการกำกับดูแลความเสี่ยงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลใน 5 ด้าน ได้แก่ (1) การปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (2) การบริการจัดการเทคโนโลยีและไซเบอร์ (3) การป้องกันความเสี่ยงต่อผู้ลงทุนรายย่อย (4) การรักษาเสถียรภาพของ stablecoin และ (5) การลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงินที่อาจเกิดขึ้น โดยล่าสุด MAS ได้เปิดรับฟังความเห็น (public consultation) ต่อหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมประเด็นความเสี่ยงทั้ง 5 ด้านดังกล่าว (เผยแพร่เมื่อตุลาคม 2565)
สหราชอาณาจักร : กระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร เล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่มีการกำกับดูแลที่เหมาะสม เช่น การเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่เหมาะสมแก่ลูกค้า (mis-selling) การโฆษณาเท็จ (false advertising) การฉ้อโกง เป็นต้น จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุง Financial Services and Markets Bill เพื่อให้อำนาจ Financial Conduct Authority (FCA) ในการกำกับดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ FCA สามารถให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่ FCA จะเสนอครอบคลุมประเด็น เช่น (1) การจำกัดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ของผู้ให้บริการต่างชาติ (2) การจัดการกรณีผู้ให้บริการล้มละลาย และ (3) การจำกัดการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับ คริปโทเคอร์เรนซี โดยคาดว่าจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในปี พ.ศ. 2566 ต่อไป (ข้อมูลจากบทความใน Financial Times)
ประเทศญี่ปุ่น : ประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลโดยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของระบบการเงิน และการให้ความคุ้มครองผู้ใช้งาน โดยที่ผ่านมา Financial Services Agency (FSA) มีการออกกฎหมายสำหรับการกำกับดูแล stablecoin ภายหลังจากเหตุการณ์ล่มสลายของ UST โดยกำหนดให้ผู้ออก stablecoin จะต้องเป็นธนาคาร ทรัสต์ หรือผู้ให้บริการโอนเงิน (fund transfer service providers) ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ FSA กำหนด ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนของผู้ให้บริการ stablecoin ด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและเพื่อให้ความคุ้มครองผู้ใช้งาน stablecoin อย่างเหมาะสม
สหรัฐอเมริกา : US Federal Trade Commission (FTC) ซึ่งเป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของสหรัฐอยู่ระหว่างพิจารณาบังคับใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดการโฆษณาโดยบริษัทคริปโทที่ไม่ตรงความจริง ทำให้เกิดการเข้าใจผิด และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์คุ้มครองผู้บริโภค ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีของ FTX ซึ่งนักลงทุนได้ฟ้องร้องดำเนินคดี FTX กรณีโฆษณาไม่ตรงปกและเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาผู้ให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลหลายรายทุ่มเงินไปกับการโฆษณาโดยว่าจ้างคนมีชื่อเสียงทั้งในวงการดาราและนักกีฬามาชักชวนให้ลงทุน โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์
นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ก็มีการบังคับใช้กฎหมายกับดาราทีวีเรียลลิตี้รายหนึ่งกรณีโปรโมตสินทรัพย์ดิจิทัล (ซึ่งพิจารณาได้ว่าเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายของสหรัฐฯ) ผ่านอินสตาแกรมของตนเองอย่างผิดกฎหมายและไม่เหมาะสม ซึ่งบุคคลดังกล่าวยินยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงินกว่าหนึ่งล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ข้อมูลจากบทความใน Bloomberg)
*แนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย
สำหรับประเทศไทย การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) โดยปัจจุบันพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลมีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดจากปี พ.ศ. 2561 ที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ และมีรูปแบบการใช้งานเกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรม สำนักงาน ก.ล.ต. จึงอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลให้เท่าทัน โดยได้ตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับลักษณะและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงรองรับการนำเทคโนโลยี DLT มาใช้ในภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อยกระดับความคุ้มครองผู้ใช้บริการในหลายด้าน เช่น การเก็บรักษาทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ การโฆษณาและการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจ การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ การดำเนินการข้างต้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศและสากล