แบงก์นอกไม่สะเทือน! เก็บภาษีขายหุ้น ยันมองศก.ภาพรวมมากกว่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 8, 2022 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า การเก็บภาษีหุ้นในปี 66 มองว่าไม่กระทบต่อ Fund Flow ที่จะยังมีทิศทางไหลสู่ตลาดทุนในประเทศปีหน้า เพราะในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติเรื่องการเก็บภาษีซื้อขายในการลงทุนที่ตลาดหุ้นต่างประเทศมีการเก็บภาษีขายหุ้นอยู่แล้ว ทำให้ในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติมีความคุ้นเคย แต่ในภาพรวมมุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในประเทศไทยจะมองในภาพรวมของประเทศมากกว่า เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจ นโยบายของรัฐบาล ค่าเงิน เป็นต้น ที่จะเป็นปัจจัยส่งผลต่อ Fund Flow ที่เข้ามา

โดยในส่วนของตลาดหุ้นในปีหน้า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยตามมุมมองของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่มีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจไทย จะเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจประเทศได้ และถ้ามีนโยบายการเมืองจากรัฐบาลชุดใหม่ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดี และสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจ มีการจูงใจการลงทุนเข้ามา รวมทั้งมุมมองค่าเงินบาทในปีหน้าที่ยังมองแข็งค่าขึ้น จะส่งผลบวกต่อ Fund Flow ที่ยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในปีหน้าได้

"รัฐบาลได้เริ่มหันมาที่การดูแลวินัยการคลังมากขึ้น หลังจากในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีการใช้จ่ายเงินไปมาก ทำให้ต้องกลับมาดูในเรื่องความสมดุลของงบดุล ทำให้เรื่องการเก็บภาษีจึงเป็นสิ่งแรกๆที่เข้ามาในการบาลานซ์งบดุลของรัฐ แต่สำหรับนักลงทุนต่างชาติจะมอง Big Picture มากกว่าในการลงทุน ทำให้การเก็บภาษีหุ้นไม่กระทบต่อ Fund Flow มาก ถ้าเศรษฐกิจไทยดี และเขามีมุมมองบวก ต่างชาติก็พร้อมเข้ามาลงทุน" นายทิม กล่าว

สำหรับในปี 65 เป็นปีที่ Fund Flow ต่างชาติพลิกกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิกว่า 2 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่ต่างชาติขายสุทธิ 5 หมื่นล้านบาท สะท้อนภาพบวกต่อเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่ Fund Flow เข้ามาในตลาดตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก และมองว่าในปีหน้าทิศทางบวกของเศรษฐกิจไทยที่ดีต่อ มองว่า Fund Flow ต่างชาติ จะไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ต่อได้ และการที่อัตราดอกเบี้ยไทยที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก ทำให้ตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นทางเลือกในการที่ต่างชาติจะนำเงินเข้ามาลงทุน เพราะมีความผันผวนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับซึ่งตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯอยู่ในระดับสูง

ส่วนนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับค่าแรง 600 บาท/วัน ในส่วนของภาคธุรกิจอาจจะมีความกังวลในเรื่องต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น หากค่าแรงที่ปรับขึ้นมาในระดับดังกล่าว และกระทบต่อการดึงดูดการลงทุนในประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจ แต่ในส่วนประชาชนการปรับเพิ่มค่าแรงจะช่วยให้รายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของปีหน้าที่ยังอาจจะต้องเจอกับค่าไฟที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าและบริการที่ยังมีการปรับขึ้นได้ตามต้นทุน ซึ่งยังต้องพิจารณาความเหมาะสมในเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรง ที่พรรคเพื่อไทยที่ใช้หาเสียง ซึ่งตามที่พรรคเพื่อไทยประกาศออกมาเป็นเป้าหมายนโยบายระยะยาวปี 2570


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ