บมจ.ฐิติกร (TK) ขอเลือกแนวทางประคองตัวรอสถานการณ์ชัดเจนขึ้นหลังจากภาครัฐประกาศ พ.ร.บ. เช่าซื้อใหม่ เริ่มมีผลบังคับใช้ 10 ม.ค.66 ซึ่งสร้างผลกระทบต่อภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมสินเชื่อ โดยบริษัทเริ่มปรับนโยบายให้เหมาะสมตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/65 ด้วยการดูแลคุณภาพของหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงให้ความสำคัญกับบริการสินเชื่อใหม่ๆ อาทิ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และ สินเชื่อส่วนบุคคล
นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวว่า ผู้ให้บริการสินเชื่อมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบแรกเห็นว่าดอกเบี้ยกำลังจะถูกควบคุมแล้วต้องรีบปล่อย อีกกลุ่มคือยังมีความไม่แน่นอนก็ต้องรอดูก่อน ซึ่งเราอยู่ในกลุ่มหลัง
"ความปลอดภัยเราควรจะรักษาตัว และดูให้แน่นอนก่อนเพราะทุนเราไม่มีปัญหา คนเราไม่มีปัญหา ความไม่นอนนี้ตอบยาก ปีหน้าเราก็ยังคงเน้นที่จะเติบโตอยู่แล้ว แต่เราจะต้องติดตามตลาดอย่างใกล้ชิดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างหลังจากที่มีเกณฑ์การควบคุมดอกเบี้ยออกมา"นายประพล กล่าว
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปัจจุบันค่อนข้างสูงที่ระดับ 5.6% โดยได้รับแรงกดดันต่อเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้รายได้ของประชาชนลดลง แต่หลังจากนี้คาดว่า NPL จะค่อยๆ ปรับตัวลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ การท่องเที่ยว นายประพล กล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากมายนัก เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีเงินสดในมือรองรับการปล่อยสินเชื่ออยู่ค่อนข้างมาก แต่ในระยะยาวหากดอกเบี้ยยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง บริษัทก็ได้เตรียมออกหุ้นกู้มาใช้ โดยบริษัทมีอันดับเครดิตองค์กรอยู่ที่ BBB+ และยังสามารถกู้เงินจากสถาบันทางการเงินได้เพิ่มเติมด้วย ปัจจุบันบริษัทมีสาขาในประเทศรวมทั้งหมด 73 สาขา กระจายใน 56 จังหวัด นอกจากนี้ยังมีการขยายสาขาไปยัง สปป.ลาว 6 สาขา ประเทศกัมพูชา 12 สาขา และ ประเทศเมียนมา 1 สาขา