นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่า ร่างกฎหมายจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในเดือน ม.ค. 66 และเริ่มเก็บภาษีได้ในวันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดไป น่าจะเป็นวันที่ 1 พ.ค. 66 ซึ่งระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายไว้ระบุไว้ทุกอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ส่วนการเว้นช่วงเวลา โดยไม่เก็บภาษีทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้นั้น เพราะต้องการให้โบรกเกอร์และผู้เกี่ยวข้องมีเวลาเตรียมระบบในการซื้อขายและการหักภาษี เพื่อนำส่งให้กรมสรรพากร โดยกรมสรรพากรเชื่อมั่นว่า ตลาดหลักทรัพย์จะปรับตัวได้ในไม่ช้า ไม่น่าเป็นห่วงอย่างที่นักลงทุนกังวลมากเกินไป
ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Broker) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก
อย่างไรก็ดี ในปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 0.055% ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ 0.195% ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะยาว
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมามากกว่า 30 ปี ซึ่งการยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีในครั้งนี้ อาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ ของไทยสูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ 0.29% และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 0.38% แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย
สำหรับการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้น แบ่งการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเป็น 2 ช่วง ในอัตรา ดังนี้
ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.05% (0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66
ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.1% (0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ยังคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่ 1.ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น 2.สำนักงานประกันสังคม3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 5.กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน 6.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 7.กองทุนการออมแห่งชาติ และ 8.กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3 - 7 เท่านั้น