นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า บริษัทวางงบลงทุนรวม 5 ปี (66-70) ที่ 1 แสนล้านบาทรองรับการขยาย 6 กลุ่มธุรกิจใหม่ ได้แก่ พลังงานสะอาด, สุขภาพและการแพทย์, ดิจิทัลโลจิสติกส์, นวัตกรรมกรีน, สมาร์ทลิฟวิ่ง, หุ่นยนต์อัจฉริยะ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดอาเซียนและโลกในอนาคต
- ธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร (Energy Transition Solutions) แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ปัจจุบันมีกำลังการผลิตกว่า 195 เมกะวัตต์ และตั้งเป้า 3,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี, นวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูง (Heat Battery) หรือ Thermal Energy Storage ประสิทธิภาพสูง เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจาก solar เป็นพลังงานความร้อน กักเก็บความร้อนไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงแดดเพื่อให้โรงงานมีพลังงานไว้ใช้ ป้องกันปัญหาพลังงานขาดแคลน, พัฒนาพลังงานชีวมวลคุณภาพสูง (Biomass และ Biocoal) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเชื้อเพลิงจากขยะ (Refused Derived Fuel : RDF) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในโรงงานซีเมนต์ มุ่งสู่ Net Zero
นอกจากนี้ ยังพัฒนาเม็ดพลังงานชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) เพื่อสร้างโอกาสให้ไทยเป็นผู้ส่งออกเชื้อเพลิงสะอาดภายในปี 70 , โซลูชันด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV Solution Platform) ได้แก่ อะเซทิลีนแบล็ค (Acelylene Black) ใช้เป็นส่วนประกอบในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จไฟสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นวัสดุผลิตสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง โดย SCGC ร่วมทุนกับบริษัท Denka ประเทศญี่ปุ่น,
EV Fleet Solution ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การจัดหายานยนต์ไฟฟ้า ประกันภัย ซ่อมบำรุง สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึง ให้บริการรูปแบบการเช่า ขนส่งสินค้าและรับ-ส่งพนักงาน เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยปี 65 ตั้งเป้าส่งมอบรถ EV จำนวน 492 คัน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6,400 ตัน และในปี 66 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเป็น 9,600 ตันต่อปี
- โซลูชันสุขภาพและการแพทย์ (Health and Medical Solutions) ตอบโจทย์เทรนด์ดูแลสุขภาพ และสังคมผู้สูงอายุขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Supplies and Labware) กว่า 15,000 รายการ โดย SCGP เข้าถือหุ้น Deltalab ประเทศสเปน, เม็ดพลาสติกเพื่อการแพทย์ SCGC, PP และ PVC สำหรับผลิตอุปกรณ์การแพทย์และเภสัชกร
- ดิจิทัลโลจิสติกส์ครบวงจร (Digital logistics) บริการขนส่งและซัพพลายเชนครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยSCGJWD ให้บริการทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ขนส่งหลากหลายทั้งทางบกเรือ ราง อากาศ รองรับสินค้าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ
- นวัตกรรมกรีน (Green Solutions) ลดใช้ทรัพยากร ส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ ภายใต้ฉลาก SCG Green Choice จำนวน 232 รายการ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายจาก 50% เป็น 67% ภายในปี 73, เทคโนโลยีก่อสร้างครบวงจรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม CPAC Green Solution ยกระดับวงการก่อสร้าง สร้างเสร็จไว ลดวัสดุเหลือทิ้ง ประหยัดต้นทุนแรงงาน ตั้งเป้าเติบโต 30% ในปี 66,
นวัตกรรมพลาสติกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCGC GREEN POLYMER ทั้ง 4 โซลูชัน ได้แก่ ลดการใช้ทรัพยากร ออกแบบให้รีไซเคิลได้ นำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ และย่อยสลายได้ โดย SCGC ลงทุนใน KRAS Group ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้ครบวงจรจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล
อีกทั้ง ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ Braskem ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลกจากประเทศบราซิล เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพในไทย เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกประเภทไบโอ-พอลิเอทิลีน (Bio-Based Polyethylene) หรือ Bio-PE, นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร Fest by SCGP และนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ถาดกระดาษสำหรับอาหารสดแช่เย็นที่นำไปรีไซเคิลได้ ช่วยรักษาความสด สะอาด ปลอดภัยของอาหาร รวมทั้งนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ OptiBreath ที่เก็บและยืดอายุผักผลไม้ และลดปัญหาขยะอาหาร
- สมาร์ทลิฟวิ่ง (Smart Living Solutions) โซลูชันเพื่ออากาศสะอาดและประหยัดพลังงาน สำหรับกลุ่มอาคาร (Smart Building) , กลุ่มที่อยู่อาศัย บ้าน/คอนโดฯ (Smart Home Solution), ระบบดูแลสุขภาพและความปลอดภัยด้วย DoCare เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อบ้านกับโรงพยาบาล ส่งข้อมูล ติดตามอาการ-ปรึกษาแพทย์แบบเรียลไทม์ (Real time) พร้อมระบบขอความช่วยเหลือ แจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุผิดปกติ
- หุ่นยนต์อัจฉริยะ (Artificial Intelligence Solutions) ลดต้นทุน เวลา แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต เช่น Smart Farming ครบวงจร, เครื่องจักรกล-ออโตเมชั่น ให้บริการออกแบบ ผลิตเครื่องจักรกลให้โรงงานต่างๆ ที่มีความต้องการที่หลากหลาย ให้ใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning ตั้งแต่กระบวนการผลิต ประกอบ บรรจุ ลำเลียงและระบบคลังสินค้า
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจในปีหน้า บริษัทยังคงกังวลต่อความผันผวนของราคาพลังงานและต้นทุนราคา วัตถุดิบ ซึ่งสิ่งที่บริษัทต้องดำเนินการตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจใช้พลังงานลดลงหรือหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ขณะที่ทิศทางอุตสาหกรรมในปีหน้าจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและทิศทางราคาพลังงานจะเป็นอย่างไร
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC กล่าวว่า หากจีนเปิดประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวก็จะกลับมาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจและภาคการก่อสร้างในประเทศไทยที่จะเริ่มกลับมา รวมถึงในส่วนของธุรกิจกลุ่มปิโตรเคมีและธุรกิจบรรจุภัณฑ์ก็กลับมาเติบโตมากขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกของบริษัท
"ราคาพลังงานคาดว่าเป็นสิ่งที่บริษัทต้องอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่แค่ 1-2 ปีแล้วจบ แต่อาจยืดเยื้อมากขึ้น จึงทำให้บริษัทต้องปรับตัว โดยมองเทรนด์พลังงานในอนาคตที่บริษัทสนใจหลักๆ ได้แก่ พลังงานลมและไฮโดรเจน พร้อมตั้งเป้าลดการใช้พลังงานจากถ่านหินลดลง 70% ภายในปี 73"นายธรรมศักดิ์ กล่าว