หลังจาก 3 การไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ ปรากฎว่ามีผู้ยื่นขอเข้าร่วมโครงการกว่า กผู้ยื่นทั้งหมด 670 โครงการ รวม 17,400 เมกะวัตต์ และสอบผ่านรอบแรก 523 โครงการ
บริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายรายผ่านเกณฑ์คุณสมบัติรอบแรก อย่าง บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL), บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP), บมจ.บีพีซีจี (BCPG), บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC), บมจ.เด็มโก้ (DEMCO), บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA), บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE), บมจ.บ้านปู (BANPU), บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC)
จากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาประเมินตามเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ โดยคณะอนุกรรมการคัดเลือกโครงการ และจะประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกในวันที่ 22 มี.ค.66
นายณัชพล แพรสีเจริญ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า ให้ความเห็นว่า บจ.ที่สอบผ่านรออบแรกน่าจะเข้ารอบต่อไปได้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นการให้คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ เนื่องจากทุกบริษัทมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ผู้ที่จะผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายที่จะประกาศผลในวันที่ 22 มี.ค.66 จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาโรงไฟฟ้า และมีเทคโนโลยีในการช่วยประหยัดต้นทุน
โดยเฉพาะ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) และบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) นอกจากมีประสบการณ์แล้วยังมีการร่วมทุนกันอีกด้วย ทำให้มีโอกาสสูงที่ทั้ง 2 บริษัทจะได้รับการคัดเลือก และยังมีโอกาสสูงที่จะได้รับส่วนแบ่งจำนวนเมกะวัตต์ที่ค่อนข้างมาก
บล.หยวนต้า ยังไม่ได้รวมประเด็นการชนะประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวในการกำหนดราคาเป้าหมาย ซึ่งหลังจากมีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายไปแล้ว หากทั้ง 2 บริษัทได้รับคัดเลือกก็คาดจะมีอัพไซด์ต่อราคาหุ้น โดยปัจจุบันให้ราคาเป้าหมายของ GULF ไว้ที่ 66 บาท, GUNKUL 5.90 บาท
ขณะเดียวกัน มอง บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) ด้วย จากมีประสบการณ์ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว หากชนะประมูลโรงไฟฟ้าในรูปแบบ SPP อย่างน้อย 1 โครงการ ก็จะส่งผลดีต่อกำไรของบริษัทให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 14.40 บาท
สำหรับบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ มองว่ามีโอกาสในการได้จำนวนเมกะวัตต์น้อย หรือไม่ได้เต็มจำนวนที่ยื่นขอ เช่น บมจ.บีพีซีจี (BCPG) อีกทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ก็มีการแข่งขันสูง ขณะที่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ยื่นไป 7 โครงการ กำลังการผลิตมากสุดราว 300 เมกะวัตต์ก็มีโอกาสได้ไม่มาก จึงไม่ได้มองเป็นตัวเก็งกำไรหลัก