บมจ.ทาคูนิ (TAKUNI) พลิกโฉมธุรกิจครั้งใหญ่ดึงนายชาติชาย พยุหนาวีชัย อดีตเอ็มดีแบงก์ออมสิน นั่งประธานบอร์ด เตรียมเปิดเกมใหม่รุกธุรกิจมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเข้าถือหุ้น 40% ใน "อี้หาวมอเตอร์" ในไต้หวัน พัฒนามอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เทคโนโลยีใหม่ประหยัดต้นทุนถึง 10 เท่าของน้ำมัน เริ่มขายในไต้หวันปีหน้า และยังร่วมทุนกับบริษัท SERSOL จากมาเลเซียตั้งบริษัท SERSOL TAKUNI พัฒนาและจัดจำหน่ายมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า สถานีชาร์ตไฟฟ้าในไทยและมาเลเซีย โดยตั้งเป้ายอดขายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทั้งในไทยและต่างประเทศที่ 7 หมื่นคันภายในช่วงปี 66-68
ส่วนธุรกิจเดิม TAKUNI เตรียมผลักดันให้ บริษัท Enrich Venture เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปลายปี 67 เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่เตรียมประมูลงาน Outsourcing Service ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาทในปี 66 พร้อมตั้งเป้าหมายเติบโตเท่าตัวในช่วงปี 66-68
นางสาวนิตา ตรีวีรานุวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TAKUNI เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวานนี้มีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท โดยแต่งตั้งนายชาติชาย พยุหนาวีชัย เป็นประธานกรรมการบริษัทและเป็นประธานกรรมการบริหารเพื่อรองรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ที่มีการปรับเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
สาเหตุที่กลุ่ม TAKUNI ให้ความสนในธุรกิจมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า เนื่องจากทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญพลังงานสะอาดมากขึ้นตามเทรนด์โลก จึงมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนการใช้รถมอเตอร์ไซด์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถที่ใช้ไฟฟ้าเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน และที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง รัฐบาลหลายประเทศจึงสนับสนุนค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไต้หวัน
ล่าสุด บริษัทเข้าร่วมลงทุนและถือหุ้น 40% ในบริษัท อี้หาวมอเตอร์ (Yihao motor) เป็นบริษัทชั้นนำของไต้หวัน และเป็นพันธมิตรกับบริษัท Ritek ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน เพื่อพัฒนาและผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่เทคโนโลยีใหม่ ที่สามารถยกออกจากรถมอเตอร์ไซค์เพื่อนำไปชาร์ตกับไฟฟ้าภายในบ้านได้
มอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่จะผลิตที่โรงงานในไต้หวัน โดยวางแผนผลิตและนำออกจำหน่ายในไต้หวันภายในไตรมาส 1/66 โดยล่าสุดได้ผ่านการทดสอบและได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไต้หวันให้สามารถขอป้ายทะเบียนรถเพื่อวิ่งบนถนนได้
"การผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไต้หวันที่จะเปลี่ยนมอเตอร์ไซด์ที่ใช้น้ำมันให้เป็นมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2035 พร้อมทั้งสนับสนุนการซื้อรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าคันละ 20,000-22,000 ดอลลาร์ไต้หวัน จึงทำให้ไต้หวันมีการพัฒนารถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานของตัวเองเพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ"นางสาวนิตา กล่าว
แม้ว่าในไต้หวันจะมีบริษัทผลิตรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าถึง 8 บริษัท แต่จุดเด่นของทาคูนิคือแบตเตอรี่ที่สามารถถอดออกไปชาร์ตไฟในบ้านได้ ช่วยแก้ปัญหาในการหาที่ชาร์ตไฟ เนื่องจากคนขับมอเตอร์ไซด์ที่ไต้หวันส่วนใหญ่จะอาศัยในอพาร์ตเมนต์ ซึ่งคู่แข่งรายอื่นๆ แก้ปัญหาโดยตั้งสถานีสลับแบตเตอรี่ ซึ่งต้องเสียค่าไฟฟ้าแพงเทียบเท่าค่าน้ำมัน แต่ถ้าลูกค้าดึงแบตเตอรี่ไปชาร์ตเองที่บ้านจะประหยัดได้ถึง 10 เท่าของค่าน้ำมัน
สำหรับในประเทศไทย TAKUNI จะเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนสำคัญจากไต้หวันเพื่อมาประกอบรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นโรงงานประกอบรถมอเตอร์ไซด์ชั้นนำของไทย
นอกจากนี้ TAKUNI ยังได้เซ็นสัญญาร่วมมือทางธุรกิจกับ Sersol ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในตลาดหลักหลักทรัพย์มาเลเซียเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อร่วมทุนพัฒนาและจัดจำหน่ายมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า รวมทั้งสถานีชาร์ตไฟฟ้าในไทยและมาเลเซีย โดยจะจัดตั้งบริษัท Sersol Takuni (M) ในมาเลเซีย ที่ TAKUNI ถือหุ้น 49% และ Sersol ถือหุ้น 51% และตั้งบริษัท Sersol Takuni (Thailand) ในประเทศไทย TAKUNI ถือหุ้น 51% Sersol ถือ 49% คาดว่ากระบวนการจัดตั้งบริษัทจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ และจะเริ่มดำเนินงานได้ต้นปี 66
นอกจากนี้บริษัทยังได้ร่วมกับ EatsHub แพลตฟอร์มฟู้ด เดลิเวอรี่ เพื่อให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากับไรเดอร์ราว 1,000 คัน จากปัจจุบันมีร้านค้าเป็นสมาชิกอยู่ 20,000 ร้านค้า และมีไรเดอร์กว่า 5,000 คน
"ปัจจุบันในประเทศไทยมีจำนวนรถมอเตอร์ไซด์รวมกันราว 25 ล้านคัน หากในอีก 10 ปีข้างหน้าปรับเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 2.5 ล้านคัน เพียงแค่เรามีส่วนแบ่งตลาดตรงนี้ 5-10% เท่ากับเรามียอดขายถึง 1.5-2.5 แสนคัน เช่นเดียวกับในมาเลเซียที่ปัจจุบันรถมอเตอร์ไซด์มีจำนวนมาก และไต้หวันก็มีถึง 4 แสนคันที่ต้องปรับเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า รวมถึงอินโดนีเซียที่มีจำนวนรถมอเตอร์ไซด์มหาศาลด้วย"นางสาวนิตา กล่าว
*ธุรกิจเดิมเดินหน้าขยายงาน-ดันธุรกิจอสังหาฯ เข้าตลาดหุ้น
นางสาวนิตา กล่าวว่า บริษัทยังคงมีแผนในการขยายงานด้าน Outsourcing Service เพิ่มเติม โดยปัจจุบันตุนงานในมือ (Backlog) ราว 298 ล้านบาท และเตรียมเข้าประมูลงานใหม่ต่อเนื่องอีกกว่า 400 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ 200 ล้านบาทในปี 66 และ 400 ล้านบาทในปี 67 ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 800 ล้านบาทในปี 68
ขณะที่ บมจ.ซีเอแซด (CAZ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยยังคงมีงานเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10-15% ในทุกปี เบื้องต้นคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาทในปี 66 และ 3,200 ล้านบาทในปี 67
ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้บริษัทร่วมทุน คือ Enrich Venture ที่ TAKUNI ถือหุ้น 20% ยังคงดำเนินโครงการเดิมที่มีในมืออย่างต่อเนื่อง และจะเดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็เตรียมผลักดันให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ช่วงปลายปี 67 เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
"ในปี 66 ผลประกอบการส่วนใหญ่จะยังมาจากธุรกิจก่อสร้าง แต่ในอนาคตธุรกิจมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และ ภายใน 3 ปีข้างหน้าคาดว่ารายได้จะมาจากธุรกิจมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแซงขึ้นมามากกว่าธุรกิจอื่นๆ จะทำให้ภาพรวมอัตรากำไรสุทธิดูดีขึ้นมากๆด้วย"นางสาวนิตา กล่าว