นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปี 66 เติบโต 3-4% ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องหลังจากปรับพอร์ตให้สมดุลมากขึ้น จากเดิมเน้นสินเชื่อความเสี่ยงสูง แต่ให้ผลตอบแทนต่ำ เช่น การปล่อยสินเชื่อให้โรงสีข้าว ทำให้เกิดหนี้เสียหลายหมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้ได้ปรับพอร์ตมาปล่อยสินเชื่อให้สมดุลขึ้นตามความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงนั้นๆ
"สินเชื่อที่ความเสี่ยงสูง ต้องมีผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามด้วย และกระบวนการติดตามสินเชื่อก็ต้องสามารถบริหารจัดการตามระดับเหมาะสมด้วย ทำให้การปรับโครงสร้างของแบงก์เกิดความสมดุล" นายผยง กล่าว
ขณะเดียวกันในปี 66 ถือเป็นปีที่ยังมีความท้าทายต่อภาคธุรกิจธนาคารเพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยในปีหน้าที่ยังมีความท้าทาย แต่หากมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยในประเทศ ยังเห็นการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่คาดจะกลับมาช่วงไตรมาส 2/66 โดยหากมีนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเร็วจะเป็นผลบวกต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ในภาวะที่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นภายใต้ของสถานการร์ที่เป็น Normalize การปรับเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) มาอยู่ที่ 0.46% จากเดิม 0.23% จะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับสูงขึ้นได้ถึง 0.4-0.6% ซึ่งมีผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเปราะบางมากขึ้น โดยธนาคารจะมีการเข้าไปดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่อง
โดยที่ในส่วนของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 66 จะควบคุมให้อยู่ในระดับที่ 3.5% ภายใต้แรงกดดันของภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัว และปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีอยู่ แต่การตั้งสำรองฯในปี 66 คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภาวะปกติ และจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
"NPL Cliff ยังเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง เพราะหน้าผาหนี้เสียยังอยู่สูง แต่โครงสร้างหนี้เสียของระบบไม่ได้ปรับลดลงเร็ว ดังนั้นหวังว่าจากมาตรการต่างๆที่ธนาคารและภาครัฐออกมา จะช่วยฟื้นฟูกลุ่มลูกหนี้เปราะบางให้กลับมาอย่างได้ยั่งยืนมากขึ้น" นายผยง กล่าว