นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง (BLS) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 66 คาดว่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าปีนี้ เนื่องจากปัจจัยด้านการจัดการเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้หลายอย่างกลับสู่ภาวะปกติ
*เป้า SET ปีหน้า 1,820 EPS 109 บาท ธีมท่องเที่ยว-บริโภค-อิเล็กทรอนิกส์-Green Energy
บล.บัวหลวง ให้เป้าดัชนี SET ปี 66 ที่ 1,820 จุด และกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) 109 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้นจาก 98 บาท/หุ้นในปี 65 เงินทุนต่างชาติคาดว่าจะยังไหลเข้ามามากขึ้น เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง สะท้อนผ่านภาพในปัจจุบันที่เม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้เพียง 20% เทียบยอดขายสุทธิในช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมาที่เงินไหลออกไปมาก
"มองเป็นโอกาสช่วงที่ตลาดปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก และรับรู้ปัจจัยกดดันต่างๆไปมากแล้ว ภาพของปัจจัยต่างๆเริ่มจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าปีนี้หลายคนที่ลงทุนในหุ้นจะอ่วมกันเยอะ แต่มองว่าเป็นโอกาสที่เราจะเติมเงินเข้าไปลงทุนในหุ้น เพื่อรับโอกาสที่กำลังจะกลับมา
และสถิติที่เรามองย้อนกลับไปถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือร่วม 90 ปี สินทรัพย์หุ้นและ Bond จะมีผลตอบแทนติดลบพร้อมกัน 3 ครั้ง ซึ่งปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 และสถิติบอกว่าเมื่อสินทรัพย์ 2 ประเภทนี้ปรับตัวลงและให้ผลตอบแทนติดลบพร้อมกันในปีเดียวกัน ปีต่อไปจะปรับตัวขึ้นและให้ผลตอบแทนเป็นบวก เช่นเดียวกับทองคำที่ยังถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ปีนี้ให้ผลตอบแทนเป็นลบ ก็หาจังหวะทยอยเข้าลงทุนได้" นายชัยพร กล่าว
การจัดพอร์ตลงทุนในปี 66 แนะเพิ่มน้ำหนัก หุ้นกู้ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหุ้นไทย จีน และสหรัฐฯส่วนธีมลงทุนเน้น กลุ่มท่องเที่ยว บริโภค มีเดีย อิเล็กทรอนิกส์ และ Green Energy ที่ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้งานมากขึ้น สะท้อนผ่านยอดขายปัจจุบันที่ 15,250 คันนับจากต้นปีที่ผ่านมา สำหรับกลุ่มสถาบันการเงินก็ยังน่าสนใจจากคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น ค่า P/E ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่
กลุ่มที่ควรเลี่ยงลงทุน คือ น้ำมัน ปิโตรเคมี โรงกลั่น กองเรือ และโรงพยาบาล และส่วนที่อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ คือ กลุ่ม Consumer Finance ที่เริ่มเห็นการเติบโตจำกัดมากขึ้นจากการแข่งขันที่รุนแรง แนวโน้มหนี้เสียมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อหรือไม่ และต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นมากดดัน ทำให้จะเห็นว่าในปี 65 หุ้นกลุ่มดังกล่าวราคาปรับตัวลง
ส่วนประเด็นการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ถือว่าเป็นผลกระทบที่จะส่งผลต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยที่มีโอกาสลดลงไป จากค่าเฉลี่ยที่ 6 หมื่นล้านบาท/วัน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความผันผวนในตลาดหลังจากที่สภาพคล่องหายไป เพราะการที่ตลาดมีสภาพคล่องลดลง หรือไม่หนาแน่นเหมือนเดิม เมื่อมีการปรับพอร์ตหรือโยกหุ้น การขายแล้วซื้อ จะมีผลต่อราคาหุ้นบนกระดานค่อนข้างมาก
"ในส่วนของโบรกเกอร์ก็ไม่อยากให้เก็บ แต่เข้าใจว่าภาครัฐจะต้องมีการหารายได้เข้ามามากขึ้น หลังจากในช่วงโควิดที่ผ่านมารัฐใช้จ่ายเงินไปเยอะ และหนี้สาธารณะขึ้นไปชนเพดาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเข้าใจ และที่ผ่านมาตลาดหุ้นได้ยกเว้นภาษีมายาวนาน คนที่ลงทุนในหุ้นก็เป็นคนที่มีเงินออม ทำให้เรื่องนี้หลีกเลี่ยงยาก แต่ก็ดูว่าภาษีที่ออกมาจะเก็บในอัตราใด 0.1% หรือมาครึ่งทาง" นายชัยพร กล่าว
*เก็ง GDP ไทยโต 4% สหรัฐ-ยุโรปเสี่ยงถดถอย จับตาจีนคัมแบ็ค
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ใกล้เคียงจุดสูงสุด หลังจากล่าสุดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.5% ปี 66 คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 1/66 ทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปแตะ 4.75% และมองว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงในปลายปี 66 หรืออย่างช้าไตรมาส 1/67 หากเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย (Recession) มากกว่าคาด
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 66 คาดว่าจะเติบโตราว 4% จากปี 65 ที่เติบโต 3.2% หนุนโดยภาคการบริโภคและท่องเที่ยวที่ยังดีต่อเนื่อง แม้อาจเห็นการส่งออกชะลอตัวลงบ้างแต่ก็เป็นการกลับสู่ภาวะปกติหลังจากฟื้นตัวขึ้นมามาก นอกจากนั้นประเทศไทยก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ด้วย
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯแม้คาดว่าจะเติบโตเพียง 1% และอาจเสี่ยงถดถอย มอง Downside อาจหดตัว 0.5% แต่เชื่อว่าดัชนี S&P500 จะไม่ลงไปลึกมากจากระดับปัจจุบัน เนื่องจากตลาดรับรู้ประเด็นนี้ไปตั้งแต่กลางปีแล้ว สะท้อนผ่านดัชนี S&P500 ตั้งแต่ต้นปีลงไปลึกสุด 25% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยเชิงสถิติ ขณะที่ NASDAQ ร่วงลงไปต่ำสุด 31% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลังที่ 35% ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ค่า P/E ดัชนี S&P500 อยู่ใกล้ค่าเฉลี่ยประมาณ 16-17 เท่า ส่วนเศรษฐกิจฝั่งยุโรปคาดว่าจะติดลบ 0.5% หลังความตึงเครียดระหว่างยุโรปและยูเครนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน
"หนึ่งปัจจัยท้าทายในปี 66 ที่ต้องจับตาดูเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์ว่าจะกลับมาสร้างปัญหาอีกหรือไม่ หากจีนมีการเปิดประเทศอย่างเต็มตัวจนดันเงินเฟ้อขึ้นสูงอีกครั้ง และคาดว่า GDP ของจีนในปีหน้าจะเติบโต 5-5.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่สะท้อนการกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มที่" นายชัยพร กล่าว