นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) พร้อมด้วยภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เรียกร้องให้ชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รอบเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าเป็นวิกฤติพลังงานจริงๆ การนำเข้า LNG มีราคาแพงมาก เมื่อเทียบกับก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาแทนในช่วงนี้ เพื่อลดการนำข้า LNG
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปัจจุบันแบกรับหนี้สะสมแล้ว 1.6 แสนล้านบาท ดังนั้นจำเป็นต้องทยอยคืนบ้าง เพื่อรักษาเสถียรภาพของ กฟผ.
สำหรับสถานการณ์การผลิตก๊าซในอ่าวไทย แหล่ง G1/61 (เอราวัณ) ปัจจุบันผลิต 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทาง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กำลังเร่งเพิ่มกำลังการผลิต คาดเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันใน ก.ค.66 และเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันปลายปี 66 และเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายใน เม.ย.67
ส่วนกรณีการจัดสรรรายได้จากบมจ. ปตท. (PTT) จำนวน 6,000 ล้านบาท เพื่อมาช่วยสนับสนุนในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 พ.ย.65 ในการใช้ช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางนั้น ยังรอข้อสรุปจากทาง ปตท.ก่อน
ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า ปตท. จะมีการหารือเรื่องเงิน 6,000 ล้านบาท ในการประชุมบอร์ด ปตท.วันพรุ่งนี้ (27 ธ.ค.) โดยเบื้องต้นมีหลายแนวทาง ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินก็ได้ อาจเป็นการบริหารจัดการต้นทุนค่าไฟให้ลดลง เพื่อนำมาทดแทน แล้วนำต้นทุนที่ลดลงมาคำนวณเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่อไป
ส่วนราคาน้ำมันคาดว่าปีหน้าราคาจะลดลง เทียบกับปี 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดว่าปี 66 เฉลี่ย 85-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นผลจากเศรษฐกิจที่ไม่โตมากนัก รวมทั้งสงครามไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกเหมือนกับช่วงแรก
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือราคาพลังงานที่ยังทรงตัวสูง กลุ่ม ปตท.ต้องดูแลเพื่อรักษาสมดุลแก่ผู้มีส่วนได้เสีย การช่วยเหลือจะมีอย่างแน่นอน แต่จะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานขององค์กร