(เพิ่มเติม) IRPC คาดกำไรปี 51 ดีขึ้นกว่าปีก่อน หลังตั้งเป้าลดค่าใช้จ่าย 1.7 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 9, 2008 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC)คาดว่าในปีนี้บริษัทจะมีกำไรสุทธิดีกว่าปีก่อนแม้ว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้มาร์จิ้นของบริษัทลดลง เนื่องจากบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายลงให้ได้ 1.7 พันล้านบาท โดยจะปรับลดงบจัดซื้อจัดจ้างลง 1 พันล้านบาท เหลือเพียง 7 พันล้านบาท และลดค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ลงราว 10% หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 700 ล้านบาท 
"กำไรเราจะต้องดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพราะเราตั้งเป้าที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เรารู้ว่าปีนี้เราจะเผชิญ crisis ราคาน้ำมันดูไบขึ้นเร็วกว่าที่เราคิด มีผลต่อมาร์จิ้น เรามองว่าภาวะไม่ค่อยดีจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นเร็ว ดังนั้นเราก็ต้องเตรียมตัวไว้ก่อน"นายปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ IRPC กล่าว
ปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าที่บริษัทคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบไว้ไม่เกิน 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1/51 บริษัทยังสามารถประคองตัวไปได้ โดยคาดว่าค่าการกลั่นหรือมาร์จิ้นน่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่มีปริมาณการกลั่นที่ 1.8 หมื่นบาร์เรล/วัน ลดลงเล็กน้อยจากเป้าหมายทั้งปีที่คาดว่าจะมีการกลั่นเฉลี่ย 1.9 หมื่นบาร์เรล/วัน
ประกอบกับบริษัทมีรายได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้ามาช่วย ซึ่งทำให้ผลประกอบการดีขึ้น แม้ว่าค่าการกลั่นน้ำมันจะต่ำกว่ารายอื่น เนื่องจากน้ำมันมีคุณภาพต่ำ รวมทั้ง บริษัทลูกของ IRPC มีผลประกอบการฟื้นกลับมาเป็นกำไรแล้ว น่าจะทำให้ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทในปีนี้ดีขึ้น
อนึ่ง โครงสร้างรายได้ของ IRPC ในปี 50 มาจากน้ำมัน 70% และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี 27% ที่เหลือมาจากรายได้อื่น ๆ
นายปิติ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการกลั่นตามมาตรฐานยูโร 4 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 54 ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการเรสซิดิว ซึ่งใช้สิ่งที่เหลือจากกระบวนการกลั่นมาเป็นวัตถุดิบในการทำเป็นเชื้อเพลิง คาดว่าจะมีกำลังการผลิตที่ 7 หมื่น-1.2 แสนตัน/ปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านเหรียญ สรุปไม่เกินสิ้นปีนี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท
สำหรับคดีความของบริษัทที่คั่งค้างอยู่ในกระบวนการชั้นศาลอีก 41 คดีนั้น นายปิติ กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจ โดยแบ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง 15 คดี ส่วนใหญ่ชนะคดีในศาลชั้นต้นแล้ว ซึ่งผู้บริหารเดิมยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
นอกจากนั้น ยังมีคดีที่ผู้บริหารเดิมฟ้องร้องอีก 9 คดี และคดีที่ผู้บริหารเดิมเป็นผู้ฟ้องร้องเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทอีก 17 คดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ