บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK) เผยที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 66 มีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าทำสัญญาร่วมลงทุน และจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนกับบริษัท ทีซี รีนิวอะเบิ้ล เอ็นเนอร์ยี่ (TC Energy) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในการออกแบบติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) รวมถึงจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
บริษัทร่วมทุนใช้ชื่อ บริษัท ศักดิ์สยาม ทีซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดย SAK ถือหุ้น 35% หรือ 1.75 ล้านหุ้น และ ทีซี รีนิวอะเบิ้ล เอ็นเนอร์ยี่ ถือหุ้น 65% หรือคิดเป็น 3.25 ล้านหุ้น วัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์ และเพื่อศึกษาหาแนวทางโอกาสทางธุรกิจเพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวข้องกับโซลาร์เซลล์ร่วมกัน โดยเฉพาะโครงการการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop)
การร่วมลงทุนดังกล่าวของบริษัทเป็นการขยายการดำเนินธุรกิจของบริษัทไปยังธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการร่วมทุนในครั้งนี้บริษัทได้ผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพ และเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นที่ยอมรับทั้งภาครัฐ และเอกชน ดังนั้นการร่วมลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้มีความหลากหลาย และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทได้
นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ SAK คาดว่าจะสามารถตั้งบริษัทร่วมทุนภายในเดือน ม.ค. 66 โดยบริษัท ศักดิ์สยาม ทีซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จะดำเนินธุรกิจติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์รูฟท็อปสำหรับที่อยู่อาศัย และ SAK จะเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการตลาดและให้บริการสินเชื่อโซลาร์รูฟท็อปให้แก่ประชาชนที่สนใจผ่านสาขาของศักดิ์สยามลิสซิ่งที่มีมากกกว่า 1,029 สาขา ที่ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในไตรมาส 1/66 พร้อมกับตั้งเป้ายอดขายภายในปีนี้ไว้ที่มากกว่า 10,000 ชุด หนุนพอร์ตสินเชื่อโซลาร์โตแตะ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าตลาดโซลาร์รูฟท็อปในไทยจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 22% หรือแตะระดับ 67,000 ล้านบาท ในปี 68 (อ้างอิงจาก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics) ซึ่งการผนึกกำลังในครั้งนี้บริษัทวางเป้าหมายการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสำหรับที่อยู่อาศัยภายใน 3 ปีข้างหน้า มากกว่า 200,000 ครัวเรือนจากตลาดรวมที่มีขนาดกว่า 22 ล้านครัวเรือน หรือ มีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดไม่น้อยกว่า 1% ของตลาดในประเทศโดยรวม สำหรับอัตราดอกเบี้ยให้การปล่อยสินเชื่อโซลาร์รูฟนั้น จะถูกคำนวนจากค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ลดลงในระยะ 8 ปี โดยการติดตั้งของแต่ละครัวเรือนจะแตกต่างกัน ซึ่งจะมีขนาดตั้งแต่ 1 กิโลวัตต์ ไปจนถึง 5 กิโลวัตต์ต่อชุด นายศิวพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการดำเนินงานในปี 66 ว่า บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 25% จากปีก่อน หรือแตะกว่า 13,500 ล้านบาท (ไม่นับรวมสินเชื่อโซลาร์) ซึ่งสัดส่วนใหญ่ของพอร์ตกว่า 80% มาจากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ตามด้วยสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance) ที่ราว 12.1% สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ที่ 2.7% และสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) ที่ประมาณ 5.1% เป็นต้นขณะเดียวกันมีเป้าหมายยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ระดับประมาณ 2,000-2,500 ล้านบาท ในส่วนของสินเชื่อโดรนเพื่อการเกษตร บริษัทวางเป้าหมายยอดขายไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 300 ชุด จากปี 65 ที่ทำได้ประมาณ 50 ชุด โดยจากนี้จะมีการให้บริการสินเชื่อฉีดพ่นปุ๋ยและพ่นยาเพื่อการเกษตรควบคู่กันไปด้วย
สำหรับสินเชื่อที่ดินในปีนี้จะมีการทำการตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าการเติบโตอาจไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับบริการสินเชื่อประเภทอื่นๆ ขณะเดียวกันบริษัทยังให้ความสำคัญกับการควบคุมระดับหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ไม่เกิน 2.5%