นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LALIN) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายในปี 66 ไว้ที่ 8.6 พันล้านบาท และตั้งเป้ายอดโอนไว้ที่ 6.85 พันล้านบาท หรือเติบโต 10% จากปี 65 ซึ่งเป็นเป้าหมายของบริษัทที่เติบโตสูงกว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตราว 3-5% ในปี 66 โดยมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีมาต่อเนื่องในปี 66 ซึ่งคาดว่า GDP ไทยจะเติบโตได้ 3.6-4% สูงกว่าภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่โต 2.7% จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่หนุนเศรษฐกิจไทยเป็นปัจจัยหลัก ทำให้มีการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวกลับมา และส่งปลต่อการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวกลับมามากขึ้น หลังคนในประเทศกลับมามีรายได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศใหญ่ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยมีการส่งออก อาจจะเห็นการชะลอตัว และมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งมีสัดส่วนต่อ GDP ที่สูงกว่า 60% อาจมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกบ้าง แต่ยังต้องติดตามเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่ามากหรือน้อยแค่ไหนที่มีผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย
ขณะที่ปัจจัยของแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นนั้นยังค่อนข้างมีผลกระทบต่อผู้ซื้อบ้านด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้นทุนของดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านสูงขึ้น อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออยู่ค่อนข้างมาก และยังไม่มีการผ่อนคลายมาตรการ LTV เหมือนปีก่อน ทำให้การเร่งตัวในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไนปี 66 อาจจะเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปจากกลุ่มลูกค้าในประเทศ แต่ยังมีมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐในการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ที่ยังช่วยกระตุ้นการซื้อบ้านได้บ้าง
นอกจากนี้ในปี 66 ยังมีปัจจัยในประเทศเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งคาดหวังจะทำให้เกิดความคึกคักในบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย และมีเงินหมุนเวียนในระบบเข้ามาช่วยกระตุ้นการบริโภคในช่วงเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งคาดว่านโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะมีการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนโครงการลงทุนของภาครัฐให้ออกมามากขึ้น ส่งผลให้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
นายชูรัชฎ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ LALIN กล่าวว่า แผนการเปิดโครงการใหม่ของบริษัทในปี 66 วางแผนเปิดโครงการใหม่จำนวน 10-12 โครงการ มูลค่ารวม 7-8 พันล้านบาท พร้อมกับวางงบซื้อที่ดินในปี 66 เพื่อรองรับการซื้อที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการในปีต่อๆไปอยู่ที่ 1.5-1.6 พันล้านบาท และบริษัทยังเดินหน้าในการรักษาวินัยทางการเงินให้มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 0.55 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ 1.4-1.5 เท่า
ขณะที่ในด้านการปรับขึ้นราคาขายบ้านในปี 66 บริษัทยังคงระดับราคาใกล้เคียงกับปีก่อน หลังปัจจุบันราคาต้นทุนวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กและปูนปรับตัวลดลงมาพอสมควรแล้ว ทำให้บริษัทยังสามารถคงราคาขายบ้านให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนได้ ซึ่งในปี 65 บริษัทได้มีการปรับขึ้นราคาขายบ้านไปแล้ว 2-3% ซึ่งยังเป็นการปรับขึ้นราคาที่ยังต่ำกว่าต้นทุนที่สูงขึ้นในปีก่อน ส่วนมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ของบริษัทที่จะโอนเข้ามาต่อเนื่องในปีนี้อยู่ที่ 1 พันล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้ในครึ่งปีแรกของปี 66
นอกจากนี้บริษัทยังคงเดินหน้าในกลยุทธ์ที่มุ่งเน้น Customer Centric ผ่านกลยุทธ์ในด้าน Lifestlye marketing และ Experience marketing โดยต่อยอดด้านดิจิทัลมากขึ้น เพื่อนำ Big Data มาวิเคราะห์หา Customer insight ตอบรับการพัฒนาบ้านสำหรับ Real Demand ทั้งด้านการอยู่อาศัย ดีไซน์ และฟังก์ชั่น พร้อมกับสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทในด้าน ESG