นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน ธ.ค.65 พบว่า ดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 121.75 ลดลง 2.1% จากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง"
นักลงทุนมองว่าการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมา คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การประกาศจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสถานการณ์เงินเฟ้อ
ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
- ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มี.ค.66) ยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ปรับตัวลง 2.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 121.75
- ดัชนีความเชื่อมั่นรายกลุ่มนักลงทุนสำรวจเดือน ธ.ค.65 พบว่าความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ อยู่ในระดับ "ร้อนแรง" ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว"
- หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพาณิชย์ (COMM)
- หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ (STEEL)
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยว
- ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ในช่วงเดือน ธ.ค.65 SET Index เคลื่อนไหวอยู่เหนือ 1,600 จุดตลอดทั้งเดือนโดยมีปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวในประเทศ การกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 65 รวมถึงการเตรียมพร้อมรับการเปิดประเทศของจีนซึ่งจะช่วยกระตุ้นทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก และแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนยังได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และการประกาศจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้น
SET Index ณ สิ้นเดือน ธ.ค.65 ปิดที่ 1,668.66 จุด เพิ่มขึ้น 2.0% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่เดือน ธ.ค.65 นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิกว่า 12,826 ล้านบาท และตลอดทั้งปี 65 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเป็นมูลค่า 196,886 ล้านบาท ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในปี 66 ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศยังต้องคงมาตรการทางการเงินที่เข้มงวด การส่งสัญญาณเปิดประเทศของจีนซึ่งจะช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนและการท่องเที่ยวในเอเชีย อีกทั้งความเสี่ยงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และวิกฤตราคาพลังงานโดยเฉพาะในยุโรป
ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มหดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเลือกตั้งในประเทศซึ่งอาจทำให้การลงทุนภาครัฐชะลอตัวลงในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์ว่าจะเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งอาจต้องเฝ้าระวังในเรื่องการระบาดของ Covid-19 ต่อไป