
นายวสิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ มองตลาดหุ้นไทยปี 66 ให้กรอบแกว่งตัว 300-400 จุด ระหว่าง 1,500-1,760 จุด แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่ม Infrastructure Fund กลุ่ม Industrial Estate และกลุ่มโทรคมนาคม โดยคาดว่าตลาดหุ้นไทยครึ่งปีแรกจะดีกว่าครึ่งปีหลัง
การลทุนในปี 66 เป็นปีที่เงินทุนจะเคลื่อนย้ายเร็วขึ้น ทั้งจากปัจจัยบวกและปัจจัยลบ การจัด Asset Allocation แนะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน Global Fixed Income 25-30% หุ้นใน Emerging Market 20-25% โดยเน้นน้ำหนักหุ้นจีนและเวียดนาม ส่วนหุ้นไทย 10-15% ทองคำ 5-10% หุ้นยุโรปและหุ้นญี่ปุ่น 5% และเงินสด 25-30%

"ปี 66 เป็นปีที่มีความผันผวนอย่างมาก มีทั้งปัจจัยที่เป็นบวกและลบผสมกันอย่างมาก เงินทุนเคลื่อนย้ายเร็วขึ้น เฟดมีโอกาสกลับทิศจากการขึ้นดอกเบี้ยต้นปี ไปเป็นลดดอกเบี้ยแทน และอาจจะลดกว่า 1.75% ในปลายปี 66 หรือการลดดอกเบี้ยของเฟดจะเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดในไตรมาส 1/67 หรือเรียกว่า Fed Pivot ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วช่วงที่เฟดหยุดการขึ้นดอกเบี้ย กลยุทธ์ลงทุน แนะนำให้ Overweight ในสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ดอลลาร์ มองค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นขณะที่ราคาทองคำในรูปเงินดอลลาร์มีโอกาสขยับค่าขึ้น"

ปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นไทยปีนี้
1.ตลาดหุ้นไทยยังให้ผลตอบแทนที่ดีในไตรมาส 1/66 แนะลงทุน Sector Rotation ให้น้ำหนัก "มากกว่าตลาด (Overweight)" กลุ่มแบงก์ จากประโยชน์ดอกเบี้ยขาขึ้น, กลุ่มค้าปลีก รับเปิดเมือง, กลุ่มโรงไฟฟ้า ต้นทุนลดลงและค่า Ft เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่ม Infrastructure Fund, Property Fund, Industrial Estate และกลุ่มโทรคมนาคม น่าสนใจมากขึ้นและน่าจะกลับมา Outperform และให้น้ำหนักลงทุนน้อยกว่าตลาด (Underweight) ในกลุ่มพลังงานที่เป็นขาลงแล้ว แต่หากราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาก็น่าสนใจ

"หากสังเกตุดีๆ ช่วงแรกการปรับตัวขึ้นของตลาดทุนไทยจะเป็นหุ้น Big Cap ตอนนี้เริ่มมาที่ Small Cap กับหุ้น Mid Cap สะท้อนสภาพคล่องในตลาดเริ่มกลับมาดีขึ้น ส่วนการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์มองเป็นปัจจัยเฉพาะตัว ไม่ลาม" นายวสิษฐ์ กล่าว
2. การเลือกตั้งจะส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น สถิติในอดีตนับตั้งแต่ปี 2531 มีการเลือกตั้ง 12 ครั้ง พบว่าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทน 5.2% ในช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้งด้วยความน่าจะเป็น 73%
3. จีนเปิดประเทศหนุนท่องเที่ยว ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้ 24-25 ล้านคน จากปีก่อน 11 ล้านคน จะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 3.4-4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 5% ของ GDP ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกและค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว
4. เงินลงทุนตรง (FDI) โดยเฉพาะ Sector ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปี 65 มี FDI เข้ามา 1.5 หมื่นล้านเหรียญ ถือว่าเป็นปีที่สูงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 10 ปี
5. สินค้าโภคภัณฑ์และเงินเฟ้อจะเป็นขาลงหลังจากผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
6. สภาพคล่องเริ่มดีขึ้น Credit Spread ที่อ่อนค่าลง บ่งชี้ถึงยังไม่เกิดความเสี่ยงจาก Credit Default
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การเปิดประเทศของจีนอาจนำไปสู่การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่, เศรษฐกิจโลกในปี 66 เติบโต 2.2% น้อยสุดในรอบกว่า 20 ปี กระทบต่อการส่งออก เศรษฐกิจถดถอย และทำให้เกิด Derating ตลาดหุ้น ซึ่งตลาดหุ้นทั่วโลกยังไม่สะท้อนการถดถอยของภาคการผลิต และเสี่ยงที่จะมีการ Down grade ของกำไรต่อหุ้น โดยคาดกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของไทยไว้ที่ 117 บาทต่อหุ้นใน 67 ก็อาจถูกปรับลดลงมาได้
และปัจจัยสำคัญคือ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตัดสินใจในเรื่องของนโยบายดอกเบี้ยอย่างไร ซึ่งมองว่ามีความน่าจะเป็น 20-25% ที่เฟดจะขึ้นปรับอัตราดอกเบี้ย ถือว่ามีโอกาสน้อยแต่นักลงทุนยังต้องระวังความเสี่ยงไว้ด้วย อย่างไรก็ตามประเมินว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 1/66 และมีโอกาสปรับลงในไตรมาส 4/66 หรืออาจคงระดับดอกเบี้ยไว้ตลอดทั้งปี
ด้านแนวโน้มตลาดหุ้นทั่วโลกคาดว่าผันผวนเช่นกัน จากได้รับแรงกระแทกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นผลจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วกว่า 4% ในปี 65 เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ และเฟดอาจต้องลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้ โดยมองว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะลดลงแตะ 2% ใน 2 ปีข้างหน้าและเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงหลังจากผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและจะไม่กลับไปแข็งค่าอีกในระยะสั้น
ทิศทาง Fund Flow ในปีนี้ยังไหลเข้าไทยต่อเนื่อง แต่จะมีความผันผวนเคลื่อนย้ายเร็ว เห็นได้จากตั้งแต่ต้นปี Fund Flow ไหลเข้ามาแล้วเกือบ 80,000 ล้านบาท ผ่านตลาดหุ้น 15,000 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะสั้นเกือบ 60,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย และจีนเปิดประเทศ ทำให้ Fund Flow ไหลออกจากตลาดสหรัฐฯเข้ามาในตลาดหุ้นเกิดใหม่ต่อเนื่องจากปี 65 ทำให้ MSCI ของ ASEAN ถูก Overweight สูงกว่า Benchmark กว่า 1.6%
แต่คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้อาจเห็นเงินไหลเข้าไปลงทุนประเทศในเอเชียเหนือมากขึ้นทั้งเกาหลีใต้และไต้หวัน และจะทำให้กลุ่ม Tech ในจีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ outperform ขึ้นมา เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ Fund Flow ไหลออกจากอาเซียนรวมถึงไทย
"ปีที่แล้วนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นในอาเซียน กว่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็น Fund Flow ที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ปีนี้ก็คงต้องขายออกมาบ้าง ประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือออกไป 1 ใน 3 โดยจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2/66 หรือราวกลางปีนี้เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ และการตัดสินใจเรื่องนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงกลางปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามมองค่าเงินดอลลาร์ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และจะไม่กลับไปแข็งค่าอีกในระยะยาว และมองว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะสูงสุดที่ 5%" นายวสิษฐ์ กล่าว
ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 25 ม.ค. และ 29 มี.ค. แล้วจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว