ASP มอง SET Q1/66 ยังคึกคัก ห่วงเก็บภาษีขายหุ้นกดตลาด Q2/66 เป้าทั้งปี 1,677-1,740 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 12, 2023 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.เอเซีย พลัส (ASP) ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 66 แม้หมดความกังวลเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นแรง แต่จะกดดันจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไทยรับผลกระทบไม่มาก โดยในไตรมาส 1/66 SET ยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจฟื้นตัว ที่มีการท่องเที่ยวเป็นพระเอก แนะเวียนกลุ่มเล่นใน 3 ธีมลงทุน หุ้นปันผล-China Play-Domestic Consumption แต่ไตรมาส 2/66 ห่วงการเก็บภาษีหุ้นและความผันผวน บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA) จะกดดันตลาดได้ พร้อมให้เป้าหมายดัชนี SET ปี 66 ที่ 1,677-1,740 จุด ส่วนเม็ดเงินต่างประเทศ (Fund Flow) ปีนี้เข้ามาน้อยกว่าปี 65 ที่มีเงินทุนไหลเข้าราว 2 แสนล้านบาท

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ภาพการลงทุนในปี 66 ไม่ต้องกลัวเรื่องเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงของสหรัฐ เพราะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยปี 65 ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ขึ้นอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นแรงและต่อเนื่อง ดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 65 อยู่ที่ 4.50% ในปี 66 คาดว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 5.00-5.25% หรือขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีฐานสูง แต่ไม่ใช่ราคาสินค้าลดลง ก็เชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่แรง

แต่ตลาดจะกลัวปัจจัยเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย (Recession) ที่จะเห็นชัดเจนมากขึ้นในปี 66 โดยเฉพาะสหรัฐ และยุโรป ส่วนไทยจะเห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่มาก เพราะเพิ่งเปิดประเทศ เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว และการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนหลังเปิดประเทศ ส่วนดอกเบี้ยในประเทศคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะปรับขึ้นไม่เกิน 2 ครั้งในปีนี้จากสิ้นปี 65 ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.25% โดยคาดการประชุมกนง.รอบนี้ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 1/66 มองยังปรับตัวขึ้น โดยมี 4 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่

1) ภาพรวมเศรษฐกิจไทยถือว่าเติบโตโดดเด่นกว่าเศรษฐกิจโลก โดยคาด GDP ปี 66 โต 3.8% มากกว่าเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวเพียง 2.6% โดยมีแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร็วขึ้นหลังจีนผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19

2) กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 66 เติบโต 6% คาดอยู่ที่ 1.27 ล้านล้านบาท คิดเป็น EPS ที่ 99.2 บาท/หุ้น โดยเฉพาะกลุ่ม non-energy คาดเติบโตได้ถึง 11.7%

3) ทิศทาง Fund Flow ที่มีแนวโน้มไหลเข้าจากค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า ตามดุลบัญชีเดินสะพัดและทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

4) ความหวังเชิงบวกต่อนโยบายใหม่ๆ ในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งจากสถิติในอดีตช่วง 2544-2562 พบว่าก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน SET Index ให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย 3.9%

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2/66 ตลาดหุ้นไทยยังมีแรงกดดันจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปมีโอกาสสูงเข้าสู่ภาวะ Recession ที่จะสร้าง Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้นภูมิภาครวมถึงหุ้นไทย แม้ไทยมีโอกาสเกิด Recession ต่ำ, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกนง. โดยคาดว่าหากปีนี้กนง.ไม่ขึ้นดอกเบี้ยดัชนี SET คาดอยู่ที่ 1,820 จุด หากปรับขึ้น 1 ครั้งคาดดัชนีอยู่ที่ 1,780 จุด และหากขึ้น 2 ครั้งคาด SET อยู่ที่ 1,677 จุด

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้น ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นไตรมาส 2/66 และความผันผวนของหุ้น DELTA ที่อาจกลับมาสร้างแรงกดดันต่อตลาดหลังปรับขึ้นตั้งแต่ พ.ย.65 ถึงปัจจุบัน 65% จนระดับ PER 66F ขึ้นมาสูงถึง 64 เท่า (เทียบกับกลุ่มที่ PER 66F เฉลี่ยอยู่ที่ 16 เท่า) ถือเป็นระดับที่ยากจะอธิบายในมุมปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งทุกๆการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น DELTA 1% กระทบ SET Index 0.85 จุด

ขณะที่ เงินทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ในปี 66 ยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง แต่จะไม่ถึง 2 แสนล้านบาท จากปี 65 ที่เข้ามาซื้อสุทธิราว 2 แสนล้านบาท โดยปัจจัยเงินบาทแข็งค่าสนับสนุน

นายเทิดศักดิ์ แนะนำกลยุทธ์การลงทุนหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโต กระจาย 3 ธีมการลงทุน ได้แก่ 1) หุ้นปันผล อาทิ AP, ASK,THANI, KKP 2) ธีม Chaina Play โดยไตรมาสแรกจะเป็นภาพการท่องเที่ยว อาทิ AOT , ERW และไตรมาส 2 เล่นภาพจีนเปิดประเทศ มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 3) ธีม Domestic Consumption กลุ่มรับเหมา STEC, CK กลุ่มค้าปลีก แนะเล่นหุ้น laggard อาทิ HMPRO , CBG โรงไฟฟ้า - GULF

นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสการลงทุนมากขึ้นในตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ตลาดจีน จากที่จีนเริ่มเปิดประเทศ เห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นหลังยกเลิกมาตรการ Zero Covid เร็วกว่าคาด แนะหุ้นธีมเปิดเมือง กลุ่มอสังหา และกลุ่มเทคโนโลยี

ส่วนสหรัฐฯ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วแต่ก็ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2% อยู่มาก ซึ่งยังคงต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจที่จะกระทบเงินเฟ้ออย่างตัวเลขการจ้างงานและค่าแรง โดยมองว่าตราสารหนี้โดดเด่น ตามด้วยกลุ่ม Defensive ได้แก่ กลุ่ม Utilities , Consumer Staples โดยเฉพาะกลุ่ม Healthcare

ขณะที่ยุโรป แนะลงทุนหุ้น Luxury ที่มีกลุ่มลูกค้าจีนถึง 40%, ในญี่ปุ่น แนะซื้อหุ้นธนาคาร การเงิน และประกัน จากผลตอบแทนพันธบัตรขาขึ้น ส่วนเวียดนาม มีเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็ว ก็แนะนำกลุ่มธนาคาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ