บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส คาดว่า จะลงทุนในระบบ 3G เฟสแรกเป็นเงิน 500 ล้านเหรียญ สรอ. หากได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วภายใน 12 เดือน เพื่อให้บริการในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หาดใหญ่ นครราชสีมา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 51 บริษัทจะสามารถจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่าที่จ่าย 6.30 บาท/หุ้นในปี 50
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร ADVANC กล่าวว่า เท่าที่ทราบข้อมูลในเบื้องต้นเชื่อว่ากทช.น่าจะออกหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตให้บริการระบบ 3G ภายในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.51 เมื่อบริษัทได้รับใบอนุญาตแล้วก็จะลงทุนทันที ซึ่งคาดว่าช่วงเริ่มต้นคงจะใช้เงินทุนไม่มากนัก
"แต่ในปีนี้(3G)คงยังไม่เกิดเต็มที่ แต่ในอนาคตเราก็ต้องดูตลาดว่าจะมีความนิยมหรือเปล่า"นายสมประสงค์ กล่าว
สำหรับในระยะนี้บริษัทได้ร่วมกับบมจ.ทีโอที ทดลองตลาดระบบ 3G บนคลื่นความถี่ 900 MHz โดยจะทำตลาดภายใต้แบรนด์ "3GSMadvance" ใช้งบประมาณในการพัฒนาระบบในส่วนนี้ประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งรวมอยู่ในงบพัฒนาระบบเครือข่ายประจำปีที่ตั้งไว้ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท
การให้บริการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้ในส่วนของบริการนอน-วอยซ์ให้เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้นอน-วอยซ์เป็น 20% ของรายได้รวม จาก 11% ในปีก่อน หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากกว่า 8 พันล้านบาทในปี 50
นายสมประสงค์ คาดว่า ในปีนี้ภาพรวมอุตสาหกรรมผู้โทรศัพท์มือถือจะมีเลขหมายใหม่เพิ่ม 20% จากปีก่อน 53 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ใช้บริการนิยมมีเบอร์โทรศัพท์มากกว่า 1 เบอร์ ขณะที่สงครามราคาชะลอตัวลง หันกลับมาแข่งขันด้านคุณภาพการให้บริการมากกว่า ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ รายได้ของบริษัทดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนประเด็นสิทธิการคงเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ นัมเบอร์ พอร์ทบิลิตี้ (Number Portability)นั้น นายสมประสงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการไม่ได้กระตือรือล้นที่จะเตรียมตัวรับการดำเนินการ เพราะต้องใช้เงินลงทุนเปลี่ยนระบบดาต้าเบส โดยเฉพาะในส่วนของผู้ขายอุปกรณ์ ขณะที่ประสบการณ์ในต่างประเทศ การเปลี่ยนผู้ใช้บริการไม่ได้รับความนิยมเท่ากับการเปลี่ยนแปลงเลขหมาย หรือต้องการเพิ่มเลขหมายขึ้นมากกว่า
นายสมประสงค์ กล่าวว่า คณะกรรมการและฝ่ายบริหารมีนโยบายรักษาระดับการจ่ายปันผลที่ดีไว้ และคาดว่าปี 51 จะจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าปี 50 ที่จ่ายอัตรา 6.30 บาท/หุ้น และที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันนี้มีมติอนุมัติวงเงินออกหุ้นกู้ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ลงทุนและรีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิม ซึ่ง ณ สิ้นปี 50 บริษัทมีภาระหนี้จากการออกหุ้นกู้ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--