BTS โวย KT ช็อตฟีล! ใส่ไฟเป็นผู้ร้าย ยืนยันพร้อมเจรจาหนี้เดินรถทุกเมื่อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 17, 2023 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บริษัทในกลุ่มบมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดแถลงข่าวตอบโต้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลและประเด็นคำให้การที่จะยื่นต่อศาลปกครองเกี่ยวกับคดีที่ 2 ที่ BTSC ฟ้องให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ KT จ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสำหรับเดือนมิถุนายน 2564 ถึงเดือนตุลาคม 2565 เป็นจำนวนกว่า 11,000 ล้านบาท

KT กล่าวอ้างว่าสัญญาจ้างเดินรถที่ทำกับรถไฟฟ้าบีทีเอส "เป็นสัญญาที่ไม่ชอบ" พร้อมทั้งอ้างว่า BTSC ใช้สิทธิฟ้องร้องโดยไม่สุจริต เพราะทราบดีอยู่แล้วว่า KT ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่บีทีเอสยังสมัครใจเข้าทำสัญญาด้วย แม้จะไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญา แล้วจึงกลับมาฟ้องเป็นคดี

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ KT เปิดออกมา ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายจากการที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตลอดจนทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่าบริษัทไม่สุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าทำสัญญา

ขณะที่บริษัทยืนยันว่า ไม่มีสิทธิหรือความเกี่ยวข้องใดๆ ในกระบวนการอนุมัติและการปฏิบัติตามกฎหมายและ/หรือข้อบัญญัติของ กทม.และ KT อีกทั้งเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า กทม.และ KT ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและ/หรือข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนและถูกต้องแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้า ทั้งของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 เฉพาะในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอเพื่อรับคัดเลือกเป็นผู้รับจ้าง และการเจรจาสัญญาว่าจ้างเท่านั้น ซึ่งตลอดระยะเวลาในขั้นตอนดังกล่าว บริษัทปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกฎเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับจ้างอย่างถูกต้องครบถ้วน ดังนั้น การเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถจึงเป็นไปโดยสุจริต และถูกต้องตามกฎหมาย มีผลให้สัญญามีความชอบด้วยกฎหมายและผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ปี 2555

"เราเชื่อโดยสุจริตว่าทั้งกทม. และกรุงเทพธนาคม จะต้องทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่ามีคณะกรรมการกฤษฎีกา และอัยการเป็นที่ปรึกษากฎหมาย กรุงเทพธนาคมเชิญให้บริษัทเข้ามาเจรจาและทำสัญญา แต่ที่มาของสัญญา บริษัทไม่ทราบ ซึ่งบริษัทเชื่อว่าทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย"

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทตั้งข้อสังเกตต่อความเห็นของ KT ว่า หากได้ตรวจสอบและเชื่อโดยสุจริตตามความเห็นดังกล่าวแล้ว เหตุใด KT ยังคงยอมรับและปฏิบัติตามสัญญา ทั้งสัญญาระหว่าง กทม.และ KT และสัญญาระหว่าง KT และ BTSC

โดยเฉพาะในส่วนของสัญญาที่ทำกับบริษัทฯ ซึ่งทำให้ BTSC คงต้องให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตามสัญญาจ้างเดินรถต่อไป แต่ KT กลับยังไม่ชำระหนี้คำจ้างเดินรถ เลือกแต่จะกล่าวอ้างตามความเห็นดังกล่าว ซึ่งการอ้างความเห็นว่ายังไม่ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถ เพราะเห็นว่าสัญญาจ้างเดินรถไม่ชอบด้วยกฎหมายตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้สัญญาเป็นโมฆะ ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาเป็นโมฆะ

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า กทม.และ KT ยังไม่จ่ายค่าจ้างเดินรถให้กับบริษัท ตั้งแต่ พ.ค. 62 หรือนับตั้งแต่มีคำสั่ง คสช. ตั้งคณะกรรมการเจรจาการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือตลอดระยะเวลา 4 ปี ทำให้บริษัทต้องแบกรับภาระ โดยไม่สามารถหยุดเดินรถเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน หากยังไม่ชำระค่าจ้างเดินรถ บริษัทก็คงฟ้องเรียกหนี้ต่อไปอีก

"ผมตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ากรุงเทพธนาคมอ้างว่าสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วจะทำอย่างไรต่อ เขาต้องแจ้งให้เราหยุดเดินรถหรือไม่?ขอให้เห็นใจเรา เราเดินรถมาอย่างดี ปฎิบัติครบถ้วน ก็อยากให้มีการชำระหนี้ ที่ผ่านมา เราก็ใช่เงินทุนบริษัทและเงินกู้มาใช้ในการเดินรถ"

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทมีค่าใช้จ่ายเดินรถ 500-600 ล้านบาท/เดือน ที่ผ่านมาบริษัทได้เพิ่มทุน ออกหุ้นกู้ ก็ยังสามารถมีเงินทุนมาใช้ค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม บีทีเอสพร้อมเจรจา โดยหลังจากที่ กทม.และ KT เปลี่ยนผู้บริหาร บริษัทก็ได้เข้าพบ ซึ่ง กทม.เคยแจ้งว่ากำลังจ้างที่ปรึกษา และจะเชิญบริษัทไปเจรจา

ทั้งนี้ คดีฟ้องเรียกหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 คดีแรกเรียกหนี้ 1.2 หมื่นล้านบาท ช่วง พ.ค.62 -พ.ค.64 ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาให้กทม.และ KT ชำระ และอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ซึ่งทางบริษัทได้ส่งหนังสือถึงตุลาการศาลปกครองสูงสุดขอให้เร่งพิจารณา เนื่องจากกระทบต่อบริการสาธารณะ คาดว่าภายในปีนี้น่าจะมีคำพิพากษาออกมา

และคดีที่สอง ฟ้องเรียกค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย2 อีก 1.1 หมื่นล้านบาทช่วงมิ.ย.64 - ต.ค.65 อย่างไรก็ดี KT ได้จ่ายค่าจ้างเดินรถหลักร้อยล้านบาทเมื่อช่วงปลายปี 65

ส่วนค่าจ้างติดตั้งระบบการเดินรถไฟฟ้า จำนวน 2 หมื่นล้านบาท ยังไม่ฟ้อง แต่ได้ทำหนังสือทวงถามไปช่วงปลายปี 65 ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ