นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์ ในกลุ่ม บมจ.เอสซีบี เอ็กซ์ (SCB) กล่าวว่า ปีนี้โลกของการลงทุนเริ่มสดใสมากขึ้น มีปัจจัยบวกจากการเปิดเมืองของจีน ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงมีอยู่ เช่น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และอาจได้เห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ เช่น ยุโรป แต่จะไม่รุนแรง ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะยังปรับขึ้นต่ออีกเล็กน้อย เนื่องจากเงินเฟ้อทยอยปรับลดลงมาแล้ว แต่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนในช่วงครึ่งปีแรก
สำหรับในช่วงเวลานี้ แนะนำให้ทยอยลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เพราะโอกาสที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้จะปรับเพิ่มขึ้นในระดับสูง มีค่อนข้างจำกัด สอดคล้องกับที่คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มองว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ แนะนำให้เพิ่มอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ โดยทยอยเพิ่ม Duration ในพอร์ตการลงทุน และเน้นเลือกหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) ทั้งของไทยและต่างประเทศ เนื่องจากมีความสามารถในการชำระหนี้และจ่ายดอกเบี้ยได้ แม้ในช่วงเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำหลีกเลี่ยงกลุ่มตราสารหนี้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (High Yield) โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่บางประเทศ ที่มีความเสี่ยงปัญหาสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศที่อาจเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ เช่น จีน รวมถึงความเสี่ยง Refinancing ในหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด
ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่ดีในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่น่าสนใจในราคาไม่แพง โดยตลาดหุ้นเอเชีย เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง และยังเป็นตลาดที่มีแรงหนุนจากการเปิดเมืองของจีน โดยเฉพาะ ตลาดหุ้นจีน A-Share เนื่องจากดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเร่งผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่มูลค่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อ แม้ว่าการเปิดเมืองอาจทำให้เกิดการระบาดเร่งตัวได้ในระยะใกล้ก็ตาม ด้านตลาดหุ้นจีน H-Share ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองของจีนเช่นกัน ขณะที่ความเสี่ยงที่หุ้นจีน ADR จะถูก Delist ลดลงมาก แม้ว่าตลาดยังเผชิญปัจจัยกดดันจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ตาม
ส่วนตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามการท่องเที่ยว มีแรงหนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืน และการใช้จ่ายช่วงก่อนเลือกตั้ง โดยเน้นหุ้นกลุ่มพาณิชย์ ขนส่ง และสาธารณูปโภค และ ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ที่มีแรงหนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่เติบโต โดยเฉพาะช่วง 1 ปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้งต้นปี 67
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 65 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ตลาดการลงทุนโลกและไทยมีปัจจัยที่ท้าทายและมีความผันผวนสูง ทำให้ภาพรวมธุรกิจ Wealth ในไทยล้วนได้รับผลกระทบ โดยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของธุรกิจบริษัทจัดการกองทุนรวม (Investment AUM) โดยรวมลดลงกว่า 10%
อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ภายใต้การบริหารของ SCB Wealth ลดลงในอัตราที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ด้วยการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยการเฟ้นหาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ในทุกช่วงเวลาสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และสร้างผลตอบแทนที่ดี เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้าได้
ประกอบกับศักยภาพของ RM ที่สามารถเข้าใจโปรดักส์ที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของ SCB Wealth ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เช่นตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับหุ้นสามัญ (KIKO) ซึ่งยังคงครองอันดับ 1 ในตลาดและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 65 โตเพิ่ม 54% หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอ้างอิงดอกเบี้ย (THOR) ครองอันดับ 1 ในตลาด) และ Private Asset ที่มียอดรวมเพิ่มขึ้น 153% จากปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนและบริการในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้แก่ลูกค้า เช่น สินเชื่อเพื่อการลงทุน Lombard และ Property-backed Loan หรือผลิตภัณฑ์ประกันควบการลงทุน Regular Unit-linked ที่ SCB ยังคงครองอันดับ 1 ในตลาด Banca Business (38% market share) ทำให้เรามีกระแสรายได้ของธุรกิจจากหลากหลายช่องทาง ผลักดันให้ Wealth Businessเป็น Growth Engine และยังคงเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ต่อไป
สำหรับกลยุทธ์ในปี 66 ภายใต้บรรยากาศการลงทุนที่มีแนวโน้มดีขึ้นและพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป SCB WELTH ยังคงมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าและให้คำแนะนำในการบริหารพอร์ตอย่างสม่ำเสมอตามสภาวะและจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าเพื่อสร้างพอร์ตให้มีคุณภาพและผลตอบแทนที่ยั่งยืน ด้วยความพร้อมของทีม SCB WEALTH Advisory ทั้งด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ติดตามดูแล และให้คำแนะนำอย่างเป็นระบบ ยิ่งไปกว่านั้น เรามุ่งมั่นที่จะสร้างความแตกต่างด้วยการยกระดับการให้บริการและคำปรึกษาผ่านช่องทาง Digital Wealth เพื่อให้บริการที่รู้จัก รู้ใจ ลูกค้ามากยิ่งขึ้น (Hyper-personalization) และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อ (Omni-channel)
"เราตั้งมั่นในการต่อยอดความมั่งคั่งให้แก่ลูกค้าของธนาคาร ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบ open architecture ที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจร" นายยรรยง กล่าว
สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนในปีนี้ จะยังคงมุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น ในทุกภาวการณ์ลงทุนในแต่ละช่วงเวลา เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง หรือ Structured Note ซึ่งมีการป้องกันความเสี่ยงในช่วงขาลงเอาไว้ (Downside Protection) และผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภท Thematic ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตอกย้ำฐานะของธนาคารในการเป็นผู้นำด้าน ESG และสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่ใส่ใจดูแลโลกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับการดูแลพอร์ตลงทุนของลูกค้าให้มีสินทรัพย์ลงทุนหลากหลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้มั่งคั่งอย่างยั่งยืน ขณะที่ความเสี่ยงโดยรวมลดลง และเน้นย้ำให้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ในกรณีที่ไปลงทุนในต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสภาพคล่องการลงทุนให้กับลูกค้า ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อการลงทุนที่ใช้สินทรัพย์ทางการเงินเป็นหลักประกัน (Lombard Loan) หรือ อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน (Property-Backed Loan) และในไตรมาส 3/66 คาดว่าจะมีบริการดิจิทัลที่มาช่วยให้ลูกค้าลงทุนได้สะดวก สบาย และตรงใจมากขึ้น เช่น บริการเตือนอัจฉริยะเมื่อตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือหลักทรัพย์ที่ลงทุนไว้ครบกำหนดไถ่ถอน รวมทั้งตัวช่วยที่จะประเมินความเสี่ยงและความต้องการลงทุนของลูกค้าลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น