นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บมจ. บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด JERA Co., Inc. Mitsubishi Corporation และ Mitsubishi Heavy Industries, Ltd. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในงานปฏิบัติการที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ MOU ดังกล่าวเป็นกิจกรรมหนึ่งในการประชุมหารือเชิงนโยบายด้านพลังงานระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ประเทศญี่ปุ่น และกระทรวงพลังงาน (Ministry of Energy) ประเทศไทย ครั้งที่ 5 (The 5th Japan - Thailand Energy Policy Dialogue - 5th JTEPD)
สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมครั้งนี้ จะดำเนินการกับหน่วยผลิตทั้ง 2 หน่วยของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี โดยครอบคลุมระบบการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของแอมโมเนีย ทั้งในด้านการผลิตและการขนส่ง การใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงผสมในสัดส่วนร้อยละ 20 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และการประเมินผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพียังทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Mitsubishi Corporation และ Chiyoda Corporation เพื่อศึกษาเทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) สำหรับหน่วยผลิตทั้ง 2 หน่วยอีกด้วย
การมีส่วนร่วมในการศึกษาความเป็นไปได้ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐและการผนึกกำลังกับภาคเอกชนครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า BPP เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลิตและจำหน่ายส่งมอบพลังงานไฟฟ้าตามหลักสามเหลี่ยมแห่งความสมดุล (Economic - Environment - Security of Supply) นั่นคือ สามารถตอบโจทย์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีเสถียรภาพ เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพ (Quality Megawatts) อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่สนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลประโยชน์ให้กับสังคมในภาพรวม
"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่ BPP ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 50 เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดำเนินการผลิตสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP) ของประเทศไทย ซึ่งถือว่าช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า และรักษาสมดุลของปริมาณการผลิตและปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศ การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงร่วมและการนำเทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) มาใช้ในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีนั้น นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ BPP ในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอด อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อ 9 ในส่วนของการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อพลังงานสะอาด" นายกิรณ กล่าว