SAF ปิดเทรดวันแรกที่ 2.82 บาท เพิ่มขึ้น 0.89 บาท (+46.11%) จากราคา IPO 10.93 บาท มูลค่าซื้อขาย 3,226.57 ล้านบาท จากราคาเปิด 4.80 บาท ราคาสูงสุด 4.84 บาท ราคาต่ำสุด 2.74 บาท
บล.ทิสโก้ ประมาณการเบื้องต้น บมจ.เอส.เอ.เอฟ.สเปเชียล สตีล (SAF) มีมูลค่าที่เหมาะสมในปี 2566 ที่ 2.21 บาท (อิงบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งที่มีลักษณะการดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกัน ที่ P/E 26 เท่า) โดยเรามอง SAF เป็นหุ้นที่สามารถสร้างการเติบโตต่อเนื่องได้ตามการเติบโตของกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากการเร่งตัวขึ้นหลังการระบาด และการผลิตรถยนต์ EV ที่มากขึ้น, อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างซึ่งมีแรงหนุนจากงานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขยายตัวจากการเร่งลงทุนของภาครัฐ
อีกทั้งบริษัทยังมีปัจจัยหนุนหลักหลังเข้าตลาดอย่างการขยายพื้นที่คลังสินค้า ช่วยให้สามารถตอบสนองให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และมีปริมาณที่เพียงพอ (เนื่องจากการนำเข้าสินค้าหลักของบริษัทใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน) และหนุนการขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) อนาคต ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยช่วยต่อยอดการเติบโตในระยะยาว
สำหรับแนวโน้มปี 2566 คาดจะเห็นผลการดำเนินงานของ SAF เร่งตัวขึ้น ปัจจัยหนุนหลักมาจากแผนการลงทุนโครงการคลังสินค้าและโรงงานแห่งใหม่ ซึ่งเพิ่มปริมาณการจัดเก็บวัตถุดิบจากเดิม 2,000 ตัน เป็น 4,000 ตัน (ใน 2Q66F) รวมถึงบริษัทยังมีแผนลงทุนระบบเตาชุบแบบไนไตรดิ้ง ช่วยตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดี และครอบคลุมมากขึ้น (หนุนทั้งในแง่ของรายได้และอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น) อีกทั้งบริษัทยังมีการควบคุมและบริหารจัดการต้นทุนที่เข้มงวดมากขึ้นเป็นอีกปัจจัยช่วยหนุนอัตรากำไร สำหรับความเสี่ยงที่ต้องระวังของ SAF คือความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนการนำเข้าที่สูง และความผันผวนของราคาวัตถุดิบเหล็กกล้า
SAF ดำเนินธุรกิจโดยการเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าเกรดพิเศษ พร้อมบริการชุบแข็งด้วยระบบสุญญากาศ แก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย อาทิ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ (สัดส่วน 47.80%) กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (สัดส่วน 37.83%) กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร (สัดส่วน 3.15%) และอื่นๆ (สัดส่วน 11.22%) โดยผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าเกรดพิเศษส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด (ประมาณ 90-93% และ 85-87% ของการจัดซื้อเหล็กต่างประเทศจะเป็นการนำเข้ามาจากเยอรมนี) และปัจจุบันบริษัทมีคลังสินค้า 2 แห่งตั้งอยู่ที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ซึ่งมีปริมาณสูงสุดจัดเก็บ 2,000 ตัน (ค่าเฉลี่ยจัดเก็บ 71% ใน 9M65)
บริษัทฯ มีแผนในการลงทุนสร้างคลังสินค้าและโรงงานแห่งใหม่เพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าที่สามารถจัดเก็บในคลังสินค้าของบริษัทจาก 2,000 ตัน เป็น 4,000 ตัน โดยบริษัทมีแผนการก่อสร้างคลังสินค้าและโรงงานแห่งใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับคลังสินค้าเดิม โดยคาดว่าจะใช้เงินส่วนหนึ่งจากการ IPO ประมาณ 80 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ภายในไตรมาส 2 ปี 66
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนลงทุนระบบเตาชุบแบบไนไตรดิ้ง เพื่อให้บริการชุบได้อย่างครบวงจร เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทต้องว่าจ้างผู้ให้บริการชุบไนไตรดิ้งภายนอก โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมประมาณ 10 ล้านบาท และดำเนินการภายในปี 66