นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูบิค กรุ๊ป (BBIK) วางเป้าเติบโตเท่าตัวทะลุ 1,000 ล้านบาทในปี 66 โดย ณ สิ้นปี 65 บริษัทมีงานในมือ (Backlog) แล้วกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ทั้งหมดในปีนี้
ขณะที่บริษัทเตรียมเปิดตัว บริษัท บลูบิค วัลแคน จำกัด เพื่อรองรับหน่วยธุรกิจ Digital Delivery หลังคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้เข้าซื้อหน่วยธุรกิจดังกล่าวจาก บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) คาดว่ากระบวนการจัดตั้งจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/66 ซึ่งจะส่งผลให้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญมีจำนวนกว่า 800 คน เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องแบบ 360 องศา รวมถึงเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
ความเชี่ยวชาญของ บลูบิค วัลแคน ได้แก่ 1) การจัดการ Application Programming Interface - API Management และการนำระบบขึ้นเพื่อใช้งาน (Deployment Management) 2) ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและแอปพลิเคชันภายใต้มาตรฐาน Software Development Life Cycle ? SDLC ได้แก่ Banking Solution, Mobile Application Platform, Line Business Connect, Big Data & Analytics, Automation, Blockchain และ API Gateway 3) การออกแบบเว็บไซต์/แอปพลิเคชัน/ฟังก์ชันพื้นฐานในการใช้งาน (UX/UI Design) และ 4) การประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ (Software Quality Assurance)
นายพชร กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จาก บริษัท บลูบิค วัลแคน จำกัด ราว 300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้รวมและส่งผลให้สัดส่วนของกลุ่มธุรกิจให้คำปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีให้กับองค์กร (Digital Excellence & Delivery หรือ DX) ที่เป็นแกนหลักในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 65% ในปีนี้ จากปีก่อนอยู่ที่ 50%
"ทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน DX ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน จำนวนคนของทีม DX ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยปลดล็อคข้อจำกัดการให้บริการในอดีต พร้อมเปิดโอกาสขยายการให้บริการกลุ่มลูกค้า ทั้งแนวตั้งและแนวราบได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเราจึงเชื่อมั่นว่าการเติบโตนับจากนี้ของบริษัทฯ จะเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพและแข็งแกร่ง" นายพชรกล่าว
ขณะที่ บริษัทยังคงมองหาการลงทุนเพื่อที่จะเข้าซื้อกิจการ (M&A) และ ร่วมลงทุน (JV) เพื่อสร้าง Synergy ใหม่เสริมแกร่งให้กับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีดีลที่อยู่ระหว่างศึกษาและเจรจา 5-6 ดีล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งธุรกิจคล้ายคลึงกับธุรกิจหลักของบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับงานบริการ (Service) และเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม เป็นต้น
"การลงทุนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการลงทุนหา Synergy ใหม่เฉลี่ยในอดีตจะทำได้เฉลี่ยประมาณปีละ 1-2 ดีล ในปี 66 บริษัทก็คาดหวังว่าจะทำได้ดีใกล้เคียงกับในอดีต ขนาดของดีลมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ขณะที่แหล่งเงินทุนจะมาจากกำไรจากผลการดำเนินงาน และ เงินกู้จากสถาบันทางการเงินบางส่วน"นายพชร กล่าว
นอกจากความแข็งแกร่งด้านบริการที่เพิ่มขึ้น บริษัทยังมีแผนเปิดตัว บลูบิค เทคโนโลยี เซ็นเตอร์ (เวียดนาม) เพิ่มเติม หลังจัดตั้ง บลูบิค เทคโนโลยี เซ็นเตอร์ ที่ประเทศอินเดียไปเมื่อปีที่ผ่านมา โดยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีรองรับการขยายธุรกิจในประเทศเวียดนาม
รวมถึง การที่บริษัทสามารถใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (BOI) จะช่วยให้อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้น จากปัจจัยบวกเหล่านี้จะทำให้บลูบิคสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้
นายพชร กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมในปี 66 มองว่ายังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง จากการที่หลายประเทศกลับมาเปิดประเทศและมีการเดินทางกันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม และโดยเฉพาะส่วนงานบริการกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ลูกค้ายังคงใช้บริการที่บริษัทมีอย่างต่อเนื่องทุกกลุ่ม 1. การจัดการ Application Programming Interfact หรือ API Management และการนำระบบขึ้นเพื่อใช้งาน (Deployment Management) 2. ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและแอปพลิเคชันภายใต้มาตรฐาน Software Development Life Cycle หรือ SDLC ได้แก่ Banking Solution 3. การออกแบบเว็ปไซต์/แอปพลิเคชัน/ฟังก์ชันพื้นฐานในการใช้งาน (UX/UI Design) และ 4. การประกันคุณภาพซอฟแวร์ (Software Quality Assurance)