Decrypto: กฎหมายไทยมองอย่างไรเมื่อศาลสหรัฐฯ ตัดสินให้ทรัพย์สินบน Exchange ไม่ใช่ของลูกค้า!

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 23, 2023 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมีศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาได้พิจารณาในประเด็นเรื่องความเป็นเจ้าของทรัพย์สินใน Earn Account ที่ผู้ฝากสินทรัพย์ดิจิทัลจะได้ดอกผลจากการฝากสินทรัพย์นั้น ๆ อันเป็นประเด็นกฎหมายสัญญาว่าแพลตฟอร์ม (Platform) เป็นผู้ครอบครองและเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ทั้งหมดในสินทรัพย์ดิจิทัล กล่าวคือแพลตฟอร์มเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเอง

เมื่อข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่าคำตัดสินของศาลสหรัฐฯ ดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ รวมถึงหากเรื่องดังกล่าวถูกพิจารณาด้วยกฎหมายของประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่ศาลไทยจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวไปในทิศทางใด

ก่อนจะพิจารณาในประเด็นกฎหมายดังกล่าว ต้องเข้าใจก่อนว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่ง ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ทำให้มีลักษณะพิเศษ 2 ประการ คือ เป็นสินทรัพย์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวประเภทหนึ่ง และไม่เฉพาะตัวอีกประเภทหนึ่ง หรือที่คุ้นเคยกันดีคือ Fungible เช่น Bitcoin, ETH, หรือ KUB และ Non - Fungible เช่น NFT ต่าง ๆ

ความหมายของ Fungible หรือที่ทางกฎหมายจะเรียกว่า สังกมทรัพย์ คือ ทรัพย์สินที่ไม่มีลักษณะเฉพาะตัวสามารถและเปลี่ยนหรือทดแทนกันได้ เช่น เงินตรา ทอง หรือหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

ส่วน Non - Fungible หรือที่ทางกฎหมายจะเรียกว่า อสังกมทรัพย์ คือ ทรัพย์สินที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่สามารถทดแทนกันได้ เช่น ไอเทม (Item) เกมส์ หรือพระเครื่อง เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว เมื่อผู้ฝาก หรือ ลูกค้าฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ชนิด Fungible เอาไว้กับผู้ให้บริการ เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วก็จะเกิดนิติสัมพันธ์กันระหว่างผู้ฝากกับผู้ให้บริการ กล่าวคือ เกิดสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างผู้ฝากกับผู้ให้บริการ ซึ่งมีลักษณะและวิธีการที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับการฝากเงินในธนาคาร กล่าวคือ เมื่อฝากเงินกับธนาคาร ซึ่งเป็นการฝากทรัพย์ เวลาลูกค้า หรือ ผู้ให้บริการ เรียกคืน ธนาคารไม่จำต้องคืนธนบัตรหรือเหรียญเดิม เพียงแต่คืนใบครบตามจำนวนเท่านั้น และเช่นเดียวกันเมื่อผู้ฝากหรือลูกค้าฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเอาไว้กับผู้ให้บริการ และตามเทคนิควิธีการแล้ว เวลาคืนสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ให้บริการก็ไม่มีความจำเป็นต้องคืนสินทรัพย์ดิจิทัลหน่วยเดิมเพียงแต่คืนสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดและจำนวนเดียวกันกับที่ได้รับฝากมาเท่านั้น หรือหากผู้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการรายใด ๆ อยากได้สินทรัพย์ดิจิทัลหน่วยที่ตนซื้อหรือฝากเอาไว้ในทางปฏิบัติแล้วก็ไม่มีผู้ให้บริการรายใด ๆ สามารถทำได้

และในทางกลับกันหากฝากหรือลูกค้าฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ชนิด Non - Fungible เอาไว้กับผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการก็จะต้องคืนทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ ให้แก่ผู้ฝากหรือผู้ใช้บริการเท่านั้นก็ เพราะไม่มีทางใดที่จะหาทรัพย์สินที่มีลักษณะเฉพาะตัวมาทดแทนกันได้นั่นเอง

หากกรณีดังกล่าวต้องถูกพิจารณาด้วยกฎหมายและศาลในประเทศไทย ผู้เขียนมีความเห็นว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ศาลไทยเองก็จะมีความเห็นใกล้เคียงกันอย่างมากกับศาลสหรัฐฯ กล่าวคือ การบริการจัดการของผู้ให้บริการธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะการบริหารจัดการที่มีความใกล้เคียงกับธนาคารอย่างมาก สินทรัพย์ดิจิทัลแบบ Fungible จึงตกเป็นของผู้ให้บริการทันทีเมื่อรับฝาก และผู้รับฝากหรือผู้ให้บริการมีหน้าที่เพียงคืนทรัพย์สินตามชนิดและจำนวนให้ครบตามที่รับฝากมาเท่านั้น

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ