บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) แจ้งผลประกอบการปี 65 มีกำไรสุทธิ 1,999 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้น 788 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ 65% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 64 ที่มีกำไรสุทธิ 1,211 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยหลักจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามปีนี้มีขาดทุนจากการ ด้อยค่าของสินทรัพย์เพิ่มขึ้น และมีการรับรู้ประมาณการหนี้สินสำหรับการระงับการดำเนินคดีแบบกลุ่มจากเหตุการณ์แหล่งมอนทารา
สำหรับไตรมาส 4/65 มีกำไรสุทธิจำนวน 417 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้น 96 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ 30% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/64 ที่มีกำไรสุทธิ 321 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยหลักจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามไตรมาส 4 ปีนี้มีขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เพิ่มขึ้น และมีการรับรู้ประมาณการหนี้สินสำหรับการระงับการดำเนินคดีแบบกลุ่มจากเหตุการณ์แหล่งมอนทารา
และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 กำไรสุทธิลดลง 247 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ 37% แม้ว่ารายได้จากการขายเพิ่มขึ้น กำไรสุทธิลดลงโดยหลักจากขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการรับรู้ประมาณการหนี้สินสำหรับการระงับการดำเนินคดีแบบกลุ่มจากเหตุการณ์แหล่งมอนทารา และขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (ไตรมาส 3/65 รับรู้กำไร)
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทของปี 65 เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) ที่ 28.36 ดอลลาร์ และมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย (Sales volumes) 468,130 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 12% จาก 416,141 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 64 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการผลิตปิโตรเลียมของโครงการในต่างประเทศ เช่น โครงการโอมานแปลง 61 และโครงการมาเลเซีย แปลงเอช รวมทั้งโครงการในประเทศ ได้แก่ โครงการจี 1/61
ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในปี 65 ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่งผลให้บริษัทมีรายได้รวม 9,660 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 339,902 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 32% จากปี 64 ซึ่งมีรายได้รวม 7,314 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 234,631 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 1,999 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 70,901 ล้านบาท) โดยในปี 65 ปตท.สผ. สามารถนำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ประมาณ 62,000 ล้านบาท
สำหรับปี 66 บริษัทได้ตั้งงบประมาณการลงทุน จำนวน 5,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สรอ. (เทียบเท่า 191,818 ล้านบาท) เพื่อรองรับแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ได้แก่ การเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการจี 1/61 โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการเอส 1 และโครงการผลิตในประเทศมาเลเซีย การเร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค 410 บี และโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 รวมถึง การเร่งการสำรวจในโครงการต่าง ๆ ในประเทศไทย มาเลเซีย และโอมาน
นอกจากนี้ ยังได้สำรองงบประมาณ จำนวน 4,800 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 166,052 ล้านบาท) สำหรับช่วง 5 ปี (66-70) เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดยขณะนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาธุรกิจใหม่ต่าง ๆ เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจ CCS ธุรกิจการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) ธุรกิจไฮโดรเจนสะอาด รวมทั้ง การต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์
"ปตท.สผ. กำลังเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 ซึ่งในปีที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้เสร็จสิ้นการติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead platform) จำนวน 8 แท่นเป็นที่เรียบร้อย และในปีนี้ จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มอีก 4 แท่น วางท่อใต้ทะเล และเตรียมแท่นขุดเจาะ (Rig) 6 แท่น เพื่อเร่งเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมอีก 273 หลุม ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปีนี้ และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี โดยคาดว่าในเดือนเม.ย.67 อัตราการผลิตก๊าซฯ จะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะเดียวกัน ปตท.สผ. ได้เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ จากทุกโครงการของ ปตท.สผ. ในอ่าวไทย ได้แก่ โครงการบงกช โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนทางพลังงานให้กับประชาชน" นายมนตรี กล่าว
นายมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปตท.สผ. กำลังมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจพลังงานเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ เช่น การลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน พลังงานรูปแบบใหม่ และนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยได้จัดตั้งบริษัทย่อยต่าง ๆ เพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว เช่น บริษัท เอ็กซ์พลอร์ เวนเจอร์ส (Xplor Ventures) ในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ (Startup) ที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นต้น