การประชุมคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในวันที่ 2 ก.พ.นี้คาดว่าคณะกรรมการ ก.ล.ต.จะมีมติไม่ต่ออายุตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. ของ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล ที่จะครบวาระในวันที่ 30 เม.ย.66 และจะเปิดให้มีการสรรหาเลขาธิการคนใหม่ หลังจากมีกระแสข่าวหลากหลายมุมมองเกี่ยวกับเบื้องลึกเบื้องหลังที่มาของมติการไม่ต่ออายุอัตโนมัติให้กับ น.ส.รื่นวดี ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างมาก คณะกรรมการ ก.ล.ต.จึงต้องการให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการครั้งนี้ และยังเปิดโอกาสให้ น.ส.รื่นวดี สมัครเข้ารับการสรรหาด้วย
แหล่งข่าว กล่าวว่า แม้ว่ากระแสข่าวภายนอกจะระบุสาเหตุความขัดแย้งหลายกรณีระหว่าง น.ส.รื่นวดี กับบอร์ด ก.ล.ต. โดยเฉพาะกรณีของ บล.เอเชีย เวลท์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเคสหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) จนนำมาสู่การที่ ก.ล.ต.ส่งเรื่องดำเนินคดีอาญากับผู้บริหารฐานนำทรัพย์สินลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต โยงมาถึงประธานบอร์ด ก.ล.ต.อย่าง นายพิชิต อัคราทิตย์ ที่เคยถือหุ้นหลักและเป็นอดีตผู้บริหาร บล.เอเชีย เวลท์ ซึ่งเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาดมติการไม่ต่ออายุอัตโนมัติให้กับ น.ส.รื่นวดี ในการประชุมเมื่อเดือน ธ.ค.65 หลังจากเสียงออกมาไม่เอกฉันท์
แต่กระแสภายในเองก็เริ่มมีคลื่นใต้น้ำออกมาต่อต้าน น.ส.รื่นวดี ว่ามีการบิดเบือนสาเหตุที่แท้จริงที่ไม่ได้รับการต่ออายุเก้าอี้อัตโนมัติ และไม่ต้องการเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่ ตามบอร์ด ก.ล.ต.ได้หยิบยกเหตุผลเทียบเคียงกับหน่วยงานกำกับอื่น ๆ ที่ใช้วิธีเปิดสรรหาเป็นการทั่วไปท่ามกลางกระแสเสียงสนับสนุนจากวงการตลาดทุนและภายในองค์กร โดยมีการทยอยปล่อยข้อมูลอีกฝั่งว่าความสัมพันธ์ระหว่างเลขาฯ ก.ล.ต.และบอร์ดที่เริ่มส่อรอยร้าวมาตั้งแต่การประเมินผลงานครั้งแรก
นอกจากนั้นจากปัญหาเทิร์นโอเวอร์ของพนักงาน ก.ล.ต.โดยเฉพาะระดับผู้บริหารที่เกิดขึ้นค่อนข้างสูง โดยในช่วงกว่า 3 ปีมีผู้บริหารลาออกไปแล้วนับสิบราย ไม่รวมระดับพนักงาน สาเหตุเกิดจากความไม่พอใจในระบบการบริหารงาน สภาพการทำงาน และเกิดความขัดแย้งในกลุ่มผู้บริหาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้บอร์ด ก.ล.ต.ยกเป็นเหตุผลที่จะต้องเปิดให้มีการสรรหาเลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ระหว่างที่มีข่าวหลุดออกมาว่าจะมีการสรรหาเลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่ ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากผู้ที่ถูกคาดหมายว่าจะเข้ามาทำหน้าที่แทนกันแล้ว โดยมีชื่อของซีอีโอแบงก์รัฐอย่างน้อย 2 คนที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง คนแรกเป็นซีอีโอหนุ่มไฟแรงที่แม้ว่าจะเข้ามารับตำแหน่งยังไม่ครบวาระ แต่มองเป้าหมายชีวิตการทำงานที่จะก้าวต่อยอดขึ้นไปในหน่วยงานภาครัฐ และอีกคนเป็นซีอีโอแบงก์รัฐที่กำลังจะหมดวาระในตำแหน่งปีนี้และอยู่ระหว่างลุ้นการต่อวาระการทำงาน ซึ่งมีคอนเน็คชั่นแนบแน่นกับผู้ใหญ่ในรัฐบาล ส่วนอีกคนเป็นผู้บริหารคนใน ก.ล.ต.ระดับรองเลขาฯ ที่อาจได้รับการทาบทามให้ยื่นสมัครเข้ารับการสรรหาในครั้งนี้ด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนใน
ขณะที่ น.ส.รื่นวดี นั้น ถึงแม้คณะกรรมการจะไม่ได้ปิดโอกาสที่จะสมัครเข้ารับการสรรหา แต่เชื่อว่าคงไม่ยื่นแต่อย่างใด