ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่า "บิทคอยน์" "คริปโทเคอร์เรนซี" "โทเคน" เหรียญดิจิทัล" เป็นศัพท์ที่ได้ยินอย่างหนาหู บางครั้งก็มีคนมาชวนให้ลงทุนแล้วบอกว่า ผลตอบแทนดี กำไรเร็ว บางครั้งก็มีคนบอกให้ระวัง เพราะราคามีความผันผวนจนอาจทำให้เกิดการขาดทุน หรือ หมดตัวก็มี
โดยคำเหล่านั้นอยู่ภายใต้นิยามของคำว่า "สินทรัพย์ดิจิทัล" ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวผู้บริโภค และ ผู้ลงทุนมากกว่าที่คิด จำเป็นต้องรู้จัก และ รู้เท่าทัน โดยเฉพาะในช่วงที่ดอกเบี้ยเงินฝากเตี้ยติดดิน จึงมีการแอบอ้างสินทรัพย์ดิจิทัลหวังหลอกลวงให้ลงทุน ซึ่งอ้างว่าลงทุนในเทคโนโลยีบ้าง ลงทุนในโทเคนบ้าง ลงทุนสิ่งที่เป็นอนาคตบ้างแล้วใช้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริงเป็นสิ่งล่อใจ
ซึ่งนิยามคำว่า "เหรียญมีสองด้านเสมอ" สินทรัพย์ดิจิทัลมีประโยชน์ในภาคของการระดมทุน เพื่อให้บริษัท หรือ องค์กรที่มีแนวคิด หรือ โครงการใหม่ ๆ มีโอกาสระดมทุนจากคนทั่วไป โดยการออกโทเคน หรือ เหรียญดิจิทัล ที่เรียกกันว่า ไอซีโอ (Initial Coin Offering : ICO)
สินทรัพย์ดิจิทัล ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งการลงทุนก็ไม่ได้ต่างไปจากการซื้อสิ่งของในชีวิตประจำวัน เพราะก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อสิ่งของ เราก็ต้องทราบก่อนว่าสิ่งที่จะซื้อคืออะไร คนขายน่าเชื่อถือหรือไม่ ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีกลไกการผลิตอย่างไร มีข้อดี ข้อเสีย ที่ต้องระวังไหม หรือ มีข้อจำกัดอะไรหรือเปล่า
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลก็เช่นกัน อันดับแรกเราต้องทำความรู้จักสินค้ำให้ดีเสียก่อน ต้องศึกษาให้เข้าใจถึงรายละเอียดว่า สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีกี่ประเภท และ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับนั้นมีอะไรบ้าง อีกทั้งต้องรู้จักคนขาย หรือ บริษัทผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัลว่า เข้าข่ายที่กฎหมายกำหนดให้ต้องขอใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือไม่ หากเข้าข่ายจริงแล้วบริษัทเหล่านั้นได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. แล้วหรือยัง โดยนักลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ได้ที่ https://www.sec.or.th/digitalasset
รวมถึงต้องรู้จักกลไกตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยว่า มีกระบวนการออกและเสนอขายอย่างไร มีช่องทางในการซื้อขายเปลี่ยนมืออย่างไรบ้าง และ ที่สำคัญผู้ลงทุนจะต้องรู้ระวังความเสี่ยงที่อาจจะมีโอกาสได้รับอีกด้วย
สุดท้ายเมื่อผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ผู้ลงทุนจะต้องรู้ข้อจำกัด รู้จักขอบเขตในการลงทุนของตนเองว่า สามารถลงทุนได้จำนวนเท่าไร พร้อมทั้งหมั่นติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร หน่วยงานที่กำกับดูแลมีการประกาศเตือน หรือ ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไร และ ประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงจากการลงทุนเสมอ
*คราวนี้เรามาทำความรู้จักสินค้ากันก่อนว่ามีอะไรบ้าง
คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น หรือ สิทธิอื่นใด โดยสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หากผู้ใช้ยอมรับ ปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซียังไม่ใช่เงินที่ธนาคารกลางใดในโลกรับรองว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legaltender) คริปโทเคอร์เรนซีที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น Bitcoin Ethereum
โทเคนดิจิทัล (Digital Token) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในส่วนแบ่งรายได้หรือสิทธิในการได้มา ซึ่งสินค้าและบริการ หรือ สิทธิอื่น ๆ (utility token) ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคน ซึ่งอาจเสนอขายโทเคนผ่านกระบวนการ Initial Coin Offering (ICO)
โดยการระดมทุนแบบ ICO (Initial Coin Offering) คือ การระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย ซึ่งบริษัทจะเสนอและกำหนดขายโทเคนที่กำหนดสิทธิหรือผลประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้ลงทุน เช่น ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการ หรือ สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า หรือ บริการที่เฉพาะเจาะจง และ กำหนดให้ผู้ลงทุนที่ต้องการจะร่วมลงทุนสามารถเข้าร่วมได้โดยการนำคริปโทฯ หรือ เงิน มาแลกโทเคนที่บริษัทออก โดยมีการกำหนดและบังคับสิทธิที่จะได้รับด้วย smart contract บนเทคโนโลยีบล็อกเชน
ICO อาจไม่ใช่หุ้นและไม่ใช่หนี้ แม้ ICO จะมีชื่อคล้ายกับ IPO (Initial Public Offering - การออกและ เสนอขายหุ้นต่อประชาชน) แต่ก็อาจมีสาระสำคัญที่แตกต่างกันมาก ผู้ถือโทเคนจากการลงทุนใน ICO อาจไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทเหมือนผู้ถือหุ้น IPO และ อาจไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท อาจไม่มีสิทธิในทรัพย์สินของบริษัทกรณีเลิกกิจการหรือล้มละลาย แต่ผู้ถือโทเคนจะมีสิทธิตามที่ระบุในเอกสารประกอบการเสนอขาย (whitepaper)
บล็อกเชน (Blockchain) คือ ระบบฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ มีกลไกที่ทำให้เกิดการทำธุรกรรมได้ โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง หากเป็นบล็อกเชนแบบสาธารณะ (Public Blockchain) ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการยืนยันธุรกรรมและเข้าถึงข้อมูลบนบล็อกเชนได้ ธุรกรรมต่าง ๆ ที่ถูกบันทึกบนบล็อกเชนแล้วนั้น ยากที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือทำลายจึงเป็นระบบที่มีความโปร่งใสและความปลอดภัยสูง ทั้งนี้ ระบบบริหารจัดการ (governance) ของบล็อกเชน และ ICO มีความหลากหลาย ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อประเมินโครงการ สิทธิที่ตนจะได้รับ และ กลไกการจ่ายผลตอบแทนให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
จากข้อมูลของ "ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)" ระบุว่า ระบบนิเวศสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตแบบยกกำลังโดยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนและสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) เป็น game changer เบื้องหลังที่เปิดทางให้ภาคเอกชนสามารถสร้าง "คริปโทเคอร์เรนซี" ขึ้นเองได้ ซึ่งจัดเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเป็นทั้งสกุลเงินดิจิทัลและสินทรัพย์ดิจิทัลในตัวเอง ใช้แลกเปลี่ยน โอน ลงทุน หรือ ซื้อขายระหว่างกันได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางทางการเงินแบบเดิม การทำธุรกรรมการเงินการลงทุนจึงสะดวกรวดเร็วขึ้นลดต้นทุน ช่วยลด pain point ของบริการการชำระเงินในปัจจุบัน โดยเฉพาะการโอนเงินข้ามประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา "สเตเบิ้ลคอยน์" ด้วยกลไกตรึงราคาคริปโทเคอร์เรนซีให้คงที่ และ หนุนหลังด้วยสินทรัพย์ที่น่าเชื่อถือ/คริปโทฯ เองเพื่อลดความผันผวนของราคาให้มีมูลค่าคงที่ใช้งานคล้ายเงินได้ดีขึ้น ทำให้ในปัจจุบันมีสกุลเงินดิจิทัลที่ภาคเอกชนสร้างขึ้นมากว่า 15,000 สกุล ซื้อขายกันได้ในตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและเชื่อมโยงสู่ "ระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance: DeFi)" ที่มีบริการทางการเงินและการลงทุนดิจิทัลหลากหลาย เข้าผ่านแอพพลิเคชั่นการเงินที่ไร้พรมแดนประเทศ และ ไม่มีการกำกับดูแลจากภาครัฐ จัดว่าเป็นผู้เล่น non-bank หน้าใหม่ไร้ตัวตนที่เพิ่มมาในระบบการเงินโลก และกลายเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงสูงได้
สำหรับภาคธุรกิจก็สนใจออก "โทเคนดิจิทัล" มาใช้ในระบบนิเวศทางธุรกิจของตัวเองภายใต้เงื่อนไขที่หน่วยงานกำกับดูแลแต่ละประเทศวางไว้ ซึ่งจัดเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอีกประเภทที่บริษัทสามารถกำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ถือว่าให้เป็น "โทเคนเพื่อการลงทุน (investment token)" คล้ายการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท
ยกตัวอย่าง เช่น SiriHub Token ที่อ้างอิงกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (Asset-backed) ออกโดยบริษัท เอสพีวี 77 จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนในมูลค่ารวม 2,400,000,000 บาท เพื่อลงทุนให้ได้มาซึ่งกระแสรายรับจากกลุ่มอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัส (Siri Campus) และมีผลตอบแทนให้กับผู้ถือโทเคนที่เป็นส่วนแบ่งรายได้รายไตรมาสอัตรา 4.5% และ 8% ต่อปี ขึ้นอยู่กับประเภทของโทเคนดิจิทัลที่เลือกลงทุน หรือ "โทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token)" เพื่อให้ผู้ถือเอาไว้ใช้บริการ หรือ แลกสินค้าของบริษัทตามที่ตกลงไว้ เช่น Jfin coin ที่เป็น Cryptocurrency ของประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม Utility Token ที่สามารถนำไปซื้อคูปอง เช่น Casa Lapin (Gift Voucher), Totem Kingdom (Ticket) แอเรียภายในแอป Join และ สินค้า และ บริการต่าง ๆในเครือเจมาร์ท
นอกจากนี้ยังมี Destiny Token ที่ผู้ออกโทเคนนำเงินไปลงทุนในโครงการภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส ๒ เพื่อเป็นการสนับสนุนการผลิตส่วนต่าง ๆ ที่คงเหลือ เช่น post-production การเตรียมการตลาด การบริหารจัดการโครงการ และ ช่องทางจัดจำหน่าย และ การจัดหาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆให้แก่ผู้ถือ DESTINY TOKEN ซึ่งผู้ถือโทเคนจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามประเภทโทเคนที่ลงทุน
มูลค่าตามราคาตลาดของคริปโทเคอร์เรนซีเติบโตมากเกือบ 3 เท่าในช่วงโควิด ทำ all-time high เข้าใกล้ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2564 ก่อนปรับตัวลงรุนแรงหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเร่งลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และ หลายประเทศ เริ่มออกกฎระเบียบคริปโทเคอร์เรนซีที่เข้มงวดขึ้น เช่นเดียวกับ DeFi ที่เติบโตเกิน 10 เท่าภายในปี 2564 มูลค่าราคาสินทรัพย์รวมที่เก็บไว้ใน DeFi ทำ all-time high จาก 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2563 มาเป็นกว่า 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2564 ก่อนจะปรับตัวลงมาตามทิศทางตลาดคริปโทเคอร์เรนซี
ไม่แปลกใจเลยที่ในช่วงแรกของการลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้ ซึ่งทำให้การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความนิยมมากมาย แต่แล้วการล่มสลายในปี 2565 มีจุดเริ่มต้นจากที่นักลงทุนมีการขายครั้งแรก เผยให้เห็นการใช้เลเวอเรจที่มากเกินไปในตลาดกู้ยืมคริปโท ทำให้เกิดการล่มสลายของ TerraUSD สเตเบิลคอยน์ของเทอรร์ฟอร์มแลบส์ที่หลุด Peg หรือ หลุดการตรึงราคาดอลลาร์ในเดือนพ.ค.65 ตามมาด้วยผลกระทบที่เกิดต่อ LUNA
ในไม่นานหลังจากเกิดวิกฤตกับ LUNA ขึ้น Voyager Digital , Celsius และ Three Arrows Capital กองทุนเฮดจ์ฟันด์คริปโทในสิงคโปร์ ได้เผชิญกับวิกฤตการขาดสภาพคล่องซึ่ งทำให้ให้มีผลกระทบต่อคนไทยที่เป็นลูกค้าของแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลไทยอย่าง "ซิปเม็กซ์" ที่เป็นคู่ค้ากับ Celsius และ บาเบลล์ไฟแนนซ์ จนถึงปัจจุบันมีการแก้ไขอย่างต่อเนื่องพร้อมกับผู้เสียหายที่ยังคงเดินหน้าติดตามสินทรัพย์คืนมา
หลายๆวิกฤตที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมคริปโท สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติสภาพคล่อง จากการสร้างเลเวอเรจมากเกินไปของโทเคนในตลาด เช่น กรณีโทเคน FTT ของ FTX และ LUNA โดยเฉพาะการประกาศล้มละลาย และ เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ของ FTX ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) ที่เคยมีมูลค่าการซื้อขายสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก และ เจ้าของเหรียญคริปโตสกุล FTT เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ส่งผลให้ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีทั่วโลกสั่นคลอนไปทั้งระบบ ซึ่งในพริบตา FTX มีมูลค่าลดลงจาก 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าสู่ภาวะล้มละลาย
ตามมาด้วยการพบว่า มีเหรียญ FTT เพิ่มจำนวนขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 ทำให้ศูนย์ซื้อขายรายสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ทั้ง Binance และ BITKUB ปิดรับฝากเหรียญ FTT และ ถอดเหรียญออกจากระบบซื้อขายเป็นการถาวร ซึ่งชัดเจนว่าการล้มละลายของ FTX ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในภาพรวมอย่างรุนแรง และ ความกังวลของคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ก็เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า เหรียญ Bitcoin ที่สูญเสียมูลค่าไปแล้วกว่า 68,000 ดอลลาร์ในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะร่วงลงอีกจนแตะระดับ 13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเหรียญ ซึ่งต่ำสุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้ง BlockFi, Genesis และ Wintermute เป็นรายชื่อของสกุลเงินคริปโตที่กำลังถูกจับจ้องว่า จะได้รับผลกระทบจากการล้มของ FTX มากที่สุด ขณะที่ตลาดคริปโตในภาพรวมที่เคยมีมูลค่ากว่า 3,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้ก็มีมูลค่าอยู่ที่ 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากการล่มสลายของอุตสาหกรรมคริปโท ได้สร้างบทเรียนอะไรบ้าง โดยอย่างแรกนักลงทุนที่เทรด หรือ ลงทุนในคริปโทฯ แม้จะเป็นนักเก็งกำไร ต้องใส่ใจเรื่องโมเดลธุรกิจ การกำกับดูแล ธรรมาภิบาล ของตัวคริปโทฯ แพลตฟอร์ม หรือ ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้ไม่ถูกหลอก หรือ สูญเสียเงินลงทุน เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
สำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ มีข้อควรระวังเพิ่มเติม คือ ไม่ควรลงทุนโดยมองการปรับขึ้นของราคาแต่เพียงอย่างเดียว เพราะไมได้สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐาน ตลอดจนทำการศึกษาสินทรัพย์ที่ลงทุนด้วยตนเอง อย่าเลือกฟังเฉพาะสิ่งที่อยากได้ยิน โดยอาจเริ่มจากการฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายทั้งลบและบวก ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมให้รอบด้าน เพื่อที่จะช่วยให้สามารถตัดสินใจบนวิจารณญาณที่ถูกต้องมากขึ้น
อีกทั้ง ต้องทำการศึกษาสินทรัพย์ที่ลงทุนด้วยตนเอง อย่าเลือกฟังเฉพาะสิ่งที่อยากได้ยิน โดยอาจเริ่มจากการฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายทั้งลบและบวก ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมให้รอบด้าน เพื่อที่จะช่วยให้สามารถตัดสินใจบนวิจารณญาณที่ถูกต้องมากขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จำเป็นต้องอาศัยการดูข้อมูลที่ลึกขึ้น เพราะความเชื่อเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบ Decentralized หรือ Stable Coin ของหลายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีข่าวลบเกิดขึ้นระหว่างปี ไม่ได้เป็นไปตามระบบดังกล่าวจริงในทางปฏิบัติ ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเข้าใจโมเดลธุรกิจที่แท้จริงก่อนตัดสินใจลงทุน
ทั้งนี้ การลงทุนในปัจจุบันอยู่บนโลกที่ไร้พรมแดน แต่การกำกับดูแลของทางการยังขึ้นกับกฎหมายและ บริบทของแต่ละประเทศ นั่นหมายความว่า แม้ทางการแต่ละประเทศจะพยายามออกแบบกฎกติกา เพื่อดูแลผู้ให้บริการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทอย่างละเอียดรอบคอบในบริบทที่เป็นปัจจุบันที่สุดแล้ว แต่นักลงทุนก็ควรต้องประเมินความเสี่ยง ความโปร่งใสในการทำธุรกิจ เพื่อประเมินระดับความน่าเชื่อถือ
รวมถึงติดตามกิจกรรมการลงทุน หรือ การดำเนินงานของผู้ให้บริการนั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นแหล่งที่เรานำเงินไปฝาก หรือ ทำธุรกรรมด้วยเพื่อการลงทุน ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด และ มีความเชื่อมโยงผลกระทบมาจากต่างประเทศ ก็อาจทำให้ผู้ให้บริการนั้น ๆ ขาดสภาพคล่อง และ ไม่สามารถส่งมอบเงินลงทุนคืนได้เช่นกัน
ตลอดจนกระบวนการการศึกษาข้อมูลและตรวจสอบผู้ให้บริการข้างต้น เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เลือกทำเฉพาะครั้งแรกที่ลงทุนเท่านั้น เพราะสภาพแวดล้อมการลงทุนในยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ข้อมูลก่อนหน้านี้ไม่สามารถใช้อ้างอิงสำหรับใช้ในการตัดสินใจครั้งต่อไปได้
บทความโดย จีรายุทธ จันทรงสกุล ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอินโฟเควสท์
** บทความชนะเลิศอันดับ 1 ในโครงการประกวด "บทความข่าวเชิงวิเคราะห์ "(ลับคมความคิด) ประเภทสื่อเว็บไซต์ ประจำปี 2565 ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ