บมจ.ทาคูนิ (TAKUNI) ส่ง "เซอซอล ทาคูนิ" จับมือ "มารีน เอ็นจีเนียริ่ง" ผลิตและประกอบมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสร้างฐานผลิตในประเทศไทย มั่นใจพร้อมบุกตลาดปลายปี 66 เจาะกลุ่มรับส่งอาหาร-นักท่องเที่ยว
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TAKUNI เปิดเผยว่า บริษัท เซอซอล ทาคูนิ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทในเครือ TAKUNI ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ บริษัท มารีน เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด วานนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันผลิตและประกอบมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
TAKUNI จะเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนสำคัญของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากไต้หวันเพื่อนำมาประกอบในโรงงานของ บริษัท มารีน เอ็นจีเนียริ่ง โดยจะเริ่มผลิตกลางปี 66 คาดว่าจะนำออกมาจำหน่ายในประเทศไทยได้ปลายปีนี้ บริษัทมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับส่งอาหาร เพราะสามารถประหยัดกว่าค่าน้ำมันได้ถึง 10 เท่า
นายชาติชาย กล่าวว่า จากแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของ TAKUNI ด้วยการปรับเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบเพื่อจัดจำหน่ายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่อยู่ในไต้หวัน ซึ่งได้วางแผนผลิตและนำออกจำหน่ายในไต้หวันภายใต้แบรนด์ "ทาคูนิ" ช่วงไตรมาส 1/66 ส่วนในประเทศไทยวางแผนออกจำหน่ายปลายปีนี้
"ทุกประเทศหันมาให้ความสนใจในพลังงานสะอาดมากขึ้นซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลก หลายประเทศมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนการใช้รถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถที่ใช้ไฟฟ้า ที่สำคัญรถไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการใช้น้ำมันมาก ข้อได้เปรียบของรถมอไซค์ไฟฟ้าของทาคูนิคือสามารถดึงแบตเตอรี่ออกจากตัวรถไปชาร์ตที่บ้านเองได้" นายชาติชาย กล่าว
สำหรับ เซอซอล ทาคูนิ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง TAKUNI ถือหุ้น 51% และ เซอซอล จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศมาเลเซีย ถือหุ้น 49%
ด้านนายเจมส์ ริชาร์ด ตัวแทน มารีน เอ็นจีเนียริ่ง กล่าวว่า สาเหตุที่ตัดสินใจร่วมลงทุนกับกลุ่มทาคูนิ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอยู่ที่ไต้หวัน รวมทั้งมีแนวความคิดไปในทิศทางเดียวกัน การเป็นพันธมิตรร่วมกับกลุ่มทาคูนิ เพื่อการพัฒนาและขยายฐานการผลิตรถไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มมารีนจะนำชิ้นส่วนจากทาคูนิมาประกอบที่โรงงานของบริษัทซึ่งอยู่ในเขตอีอีซี
กลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่ม B2B เช่น ไรเดอร์ของแอพต่างๆ รวมทั้งธุรกิจในเครือของไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีทั้งร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม แฟชั่น ทำให้มั่นใจว่ากระแสตอบรับจะดีอย่างแน่นอน ธุรกิจรถไฟฟ้ามีอัตราการขยายตัวสูงมาก เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยประหยัดอย่างมาก
ด้านนายตรีพล บุณยะมาน รองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า สถาบันยานยนต์จะเข้ามาดูแลเรื่องมาตรฐานของรถไฟฟ้า เพื่อให้เป็นตามกฎระเบียบและมาตรฐานของรัฐบาล รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ทั้งนี้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างมากในประเทศ ดูได้จากมียอดการยื่นขอจดทะเบียนในปีที่ผ่านมาเติบโตกว่า 100% และแนวโน้มยังเติบโตอีกมาก