กระแส Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าสร้างกระแสฮือฮาให้กับประเทศไทยค่อนข้างมาก หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลางเดือนที่ผ่านมา โดยได้เปิดให้ผู้สนใจยื่นจัดตั้ง Virtual Bank ภายในไตรมาส 1/66 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในกลางปี 68 ซึ่งมีหลาหลายผู้ประกอบการบิ๊กเนมทุนหนาที่สนใจเข้าร่วมแจมลงสนามในครั้งนี้ จากเกณฑ์ทุนจดทะเบียนที่สูงลิ่ว 5 พันล้านบาท
โดยเป็นรายแรกที่เปิดหน้าไพ่แสดงความสนใจ คือ KTB ที่ควง GULF และ ADVANC หรือ AIS ร่วมวง รายต่อมาถึงคราวพ่อค้ามือถือเจ้าใหญ่ในตลาดที่แตกลูกหลานเข้าตลาดหุ้น คือ JMART จูงมือพันธมิตรกลุ่มการเงินชั้นนำจากเกาหลีใต้ KB Financial Group เข้าร่วมชิงไลเซ่นส์ และยังมีผู้เล่นบิ๊กเนมกลุ่มแบงก์เจ้าอื่นที่สนใจศึกษา ทั้ง KBANK, SCB, BBL และ BAY รวมถึงกลุ่มธุรกิจการเงินในเครือซีพีที่มี Truemoney เป็นหัวจักรสำคัญ เกี้ยว Alibaba เข้าร่วม ไม่เว้นกลุ่ม BTS ที่มี RABBIT ในมือมองหาพันธมิตรลงสนามด้วยเช่นกัน
การมาของ Virtual Bank ในครั้งนี้ธุรกิจใดจะมีผลกระทบบ้าง แนวโน้มการแข่งขันจะเป็นอย่างไร?
*ผลกระทบของ Virtual Bank
นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย มองว่า Virtual Bank เป็นการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มของผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของแบงก์ (Unbanked Population) ที่ยังมีอยู่ค่อนข้างมาก โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างบริการใหม่ๆ ให้ลงลึกประชาชนในระดับฐานราก แม้ว่าปัจจุบันแบงก์จะมีบริการ Digital Lending ผ่าน Mobile Banking หรือกลุ่ม Fintech ต่างๆที่บริการสินเชื่อ Digital Lending แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้หมด
ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริหารแบงก์พาณิชย์ได้ ก็จะอยู่กับ Non-Bank ดังนั้น การมาของ Virtual Bank จะเข้ามาแบ่งแชร์ฐานลูกค้ากลุ่ม Non-Bank ไป เพราะ Virtual Bank จะเป็นผู้เล่นที่สามารถแข่งขันดอกเบี้ยได้ดีกว่า เนื่องจากมีต้นทุนดำเนินการที่ต่ำกว่า เป็นแรงดึงดูดกลุ่มลูกค้าหลักของ Non-Bank ไปใช้บริการจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกกว่า ส่งผลให้ธุรกิจ Non-Bank ต้องมีการปรับตัว ซึ่งยังมีเวลาอีก 3 ปีในการปรับตัวหาแนวทางในการทำธุรกิจที่สามารถรักษาฐานลูกค้าหรือขยายฐานลูกค้าไปกลุ่มใหม่ๆได้
การแข่งขันของ Virtual Bank ในด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มองว่าคงไม่รุนแรงมาก เพราะทาง ธปท.ตั้งเป้าหมายที่จะให้ไลเซ่นส์ Virtual Bank เฟสแรกแค่ไม่เกิน 3 ราย ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยน่าจะใกล้เคียงกัน การแข่งขันช่วงแรกน่าจะโฟกัสไปที่การให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงเพื่อดึงฐานลูกค้าเข้ามา เช่นเดียวกับวิธีที่ Virtual Bank ในต่างประเทศทำในช่วงแรก ทั้งใน จีน เกาหลีใต้ อังกฤษ และบราซิล ซึ่งให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงและเป็นแบบขั้นบันได เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังผลกระทบด้านต้นทุนทางการเงิน (Cost of fund) ของธุรกิจ Virtual Bank ที่จะมีผลในระยะยาวได้
นอกจากการแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากแล้ว สิ่งที่ Virtual Bank ต้องพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง คือ งานบริการบนระบบดิจิทัลเพื่อให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และบริการไม่สะดุด ซึ่งคุณภาพของระบบให้บริการถือเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมกันนั้นยังต้องดูแลในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ถือเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงไปที่การเข้าถึงข้อมูลลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อและประเมินความเสี่ยงลูกค้า มองว่าการลงทุนในระบบไอทีต้องใช้เม็ดเงินค่อนข้างสูง เพื่อทำให้ระบบทุกอย่างของธุรกิจ Virtual Bank มีคุณภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ การมาของ Virtual Bank ยังคงต้องติดตามเรื่องราวของผู้ประกอบการที่จะยื่นขอไลเซ่นส์อีกต่อไป ซึ่งจะมีผู้ประกอบการใดสนใจเข้ามาร่วมวงในสนามนี้บ้าง และใครจะได้เป็นผู้ถูกคัดเลือกจาก ธปท.เข้าสู่สนามจริง ซึ่งจะทราบกันในกลางปี 67 ก่อนเริ่มธุรกิจในกลางปี 68 โดย Virtual Bank ถือเป็นหนึ่งภายใต้ Financial Landscape ของ ธปท. ที่มีวัตถุประสงค์อยากให้ประเทศได้รับประโยชน์จากการใช้นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงินมากขึ้น