ใกล้หน้าร้อนเข้ามาทุกทีเครื่องดื่มน้ำอัดลมชื่อดังระดับโลกที่ VI ระดับตำนาน อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังถือหุ้นมาต่อเนื่อง คือ โคคา-โคลา หรือ Coke เชื่อว่าเป็นแบรนด์น้ำอัดลมที่ทุกคนรู้จัก และดื่มด่ำกับรสชาติแก้กระหายในชีวิตประจำวัน
สำหรับประเทศไทยมีผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์โคคา-โคลา (โค้ก, แฟนต้า, สไปร์ท, ชเวปส์, มินิเมด, น้ำดื่มน้ำทิพย์ และน้ำแร่บอนอควา) 2 ราย คือ ไทยน้ำทิพย์ เจ้าใหญ่รับผิดชอบพื้นที่ 62 จังหวัด และ บมจ.หาดทิพย์ (HTC) น้องเล็กที่คุมตลาดในภาคใต้ รับผิดชอบพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ชุมพรไปจนถึงนราธิวาส
ย้อนดูผลการดำเนินงานปี 63-64 ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในหัวใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคใต้หยุดชะงักไป และในปี 65 ยังเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบหัวเชื้อโคคา-โคลาที่สูงขึ้น หลังค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหนัก และต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นกดดันกำไร
แต่สัญญาณฟ้าเริ่มเปิดตั้งแต่ต้นปี 66 จากการเริ่มกลับมาเปิดประเทศของจีนเร็วกกว่าคาดเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อภาคท่องเที่ยวของไทยที่เป็นหนึ่งในจุดเป้าหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับราคาต้นทุนบรรจุภัณฑ์เริ่มทยอยปรับลดลงต่อเนื่องจากปลายปีก่อน รวมถึงค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วส่งผลบวกต่อต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบให้เริ่มคลี่คลายลง
นักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตของ HTC ในไตรมาส 1/66 เริ่มเห็นการปรับลงมาชัดเจน ราคาเม็ดพลาสติกที่ลดลงตามราคาพลังงานโลก โดยเฉพาะ PET ที่ใช้ในสัดส่วนสูงถึง 45% ของต้นทุนรวม และค่าเงินบาทแข็งค่ากลับมารวดเร็วที่เฉลี่ย 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปีก่อนที่ 37-38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้นำเข้าหัวเชื้อผลิตเครื่องดื่มในราคาต้นทุนที่ถูกลง หนุนอัพไซด์ต่อกำไรของบริษัท
*ท่องเที่ยวฟื้น หนุนยอดขายโตเด่น แรงส่งผลงานปี 66 New High
อานิสงส์ของการกลับมาเปิดประเทศเร็วกว่าคาดของจีน ส่งผลบวกโดยตรงต่อเศรษฐกิจภาคใต้ที่ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยว และหลายจังหวัดต่างรออ้าแขนรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้ามา เริ่มเห็นปริมาณยอดขายจากธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้น เช่น โรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงมีอีเว้นท์และงานจัดเลี้ยงต่างๆ คึกคักขึ้น รวมถึงร้านค้าปลีกในภาคใต้เริ่มกลับมาสั่งซื้อเพื่อสต็อกสินค้าไว้รองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะไหลเข้ามามากขึ้น ซึ่งทำให้มีโอกาสที่ HTC จะทำผลการดำเนินงาน New High ได้ในปีนี้
*หุ้นเครื่องดื่มราคา Laggard ที่ถูกมองข้าม
HTC ถือเป็นหุ้นในกลุ่มเครื่องดื่มที่ถูกมองข้ามไป ทำให้ราคาหุ้นยังค่อนข้างนิ่ง และถือเป็นหุ้น Laggard ที่ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับกลุ่มเครื่องดื่มที่เทรดกันที่ P/E ระดับ 25-30 เท่า แต่ HTC เทรด P/E ที่ 14 เท่า หากมองมาที่ผลการดำเนินงานที่รับอานิสงส์เต็มๆถือว่าเห็นการฟื้นตัวกลับมาที่โดดเด่น และได้รับอานิสงส์บวกจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นกลับมาดีเข้ามาหนุนผลการดำเนินงาน และยังมีอัพไซด์ของราคาหุ้นอยู่ด้วยเช่นกัน
คำแนะนำหุ้น HTC จากโบรกเกอร์
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 39.00 บาท/หุ้น
บล.กรุงศรี แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 38.00 บาท/หุ้น
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 36.00 บาท/หุ้น
บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 35.50 บาท/หุ้น