นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai ต้อนรับ บมจ. บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มเทคโนโลยี โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "BVG" ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566
BVG เป็นบริษัทย่อยของ บมจ. ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) ประกอบธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์ (ระบบ EMCS) และมีบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% อีก 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัด ให้บริการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทน รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำที่เกี่ยวข้อง ผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน (บริการ TPA) บริษัท บลูเวนเจอร์ แอคชัวเรียล จำกัด ให้คำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย และบริษัท บลูเวนเจอร์ เทค จำกัด ให้บริการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ปัจจุบัน BVG มีฐานลูกค้าที่เป็นบริษัทประกันภัยมากที่สุดในประเทศจำนวน 34 บริษัท มีส่วนแบ่งการตลาดในงวด 9 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 คำนวณจากจำนวนการเคลมประกันรถยนต์ผ่านระบบ EMCS เทียบกับประมาณการจำนวนการเคลมประกันรถยนต์ในประเทศไทย และในงวด 9 เดือนแรกปี 2565 กลุ่มบริษัทมีโครงสร้างรายได้จากระบบ EMCS : บริการ TPA : บริการอื่นและรายได้อื่น เท่ากับ 42 : 43 : 15
BVG มีทุนชำระแล้วหลัง IPO 225 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 360 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมจะนำหุ้นออกขาย 67.5 ล้านหุ้น แบ่งเป็นเสนอขายต่อผู้มี อุปการคุณของบริษัทฯ 17.3 ล้านหุ้น บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 140.2 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2566 ในราคาหุ้นละ 3.85 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 606.375 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,732.5 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ 32.08 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด (ไตรมาส 4/2564 ถึง ไตรมาส 3/2565) ซึ่งเท่ากับ 51.86 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.12 บาท โดยมี บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ
นางนวรัตน์ วงศ์ฐิติรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BVG เปิดเผยว่า บริษัทให้บริการระบบ EMCS เป็นรายแรกและเป็นหนึ่งในผู้นำในประเทศไทย นอกจากมีฐานลูกค้าที่เป็นบริษัทประกันภัยมากที่สุดแล้ว ยังมีลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเคลมประกันภัยรถยนต์กว่า 3,700 รายทั่วประเทศ อาทิ ศูนย์ซ่อมมาตรฐาน อู่ซ่อมรถยนต์ ร้านอะไหล่ บริษัทสำรวจภัย บริษัทรถยก และบริษัทประมูลซากรถ เป็นต้น ในส่วนบริการ TPA บริษัทครอบคลุมสถานพยาบาลเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงคลินิกทั่วประเทศมากกว่า 500 แห่ง
ทั้งนี้ BVG มีเป้าหมายในการพัฒนาซอฟต์แวร์ และออกแบบนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านประกันภัย ให้ครอบคลุมทุกกระบวนการของธุรกิจ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำและเพื่อประโยชน์ของคู่ค้าที่เกี่ยวข้อง สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาระบบ AI และระบบสารสนเทศ ขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน โดยการลงทุนหรือร่วมทุนกับบริษัทอื่น และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ
BVG มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือ บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) ถือหุ้น 65% โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ ในแต่ละปี ภายหลังจากหักภาษีและเงินทุนสำรองตามกฎหมายและทุนสำรองอื่น