ศาลแพ่งได้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องฉุกเฉินขอให้ยึดและอายัดทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดกรณีหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น โดยให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นผู้ดำเนินการยึดหรืออายัด เก็บรักษาทรัพย์สิน ตลอดจนแจ้งคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยข้อมูลว่า นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ได้รายงานคดีสำคัญต่ออัยการสูงสุด ให้ทราบว่า สำนักงานคดีพิเศษได้รับสำนวนคดีการตรวจสอบและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินกรณีคดี MORE จาก ปปง. เพื่อขอให้พนักงานอัยการรับดำเนินการและยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของ ผู้ถูกกล่าวหา ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวล กฎหมายอาญา
พยานหลักฐานที่ได้รวบรวมมานั้น ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากับพวกเป็นผู้มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดร่วมกันฟอกเงินอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) และความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รวมทั้งทรัพย์สิน จำนวน 59 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเข้าลักษณะเป็นความผิด มูลฐานตามมาตรา 3 (18 ) ดังกล่าวและยังมิได้ดำเนินการตามกฎหมายอื่นซึ่งหากดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เสียหายและแผ่นดินมากกว่า ทั้งมีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้เสียหายได้
ดังนั้น วันนี้ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 สำนักงานคดีพิเศษ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว ก่อนมีคำสั่งตามมาตรา 51, 55 และยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของ ผู้ถูกกล่าวหา กับพวก จำนวน 59 รายการ รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 4,470,877,185.15 บาท พร้อมดอกผลของ เงิน หรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 49 ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ต่อไปด้วย
การยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในวันนี้เป็นการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว และเมื่อ ปปง. รวบรวมผู้เสียหายและจำนวนเงินที่ได้รับความเสียหายให้พนักงานอัยการในลำดับต่อไปแล้ว พนักงานอัยการจะแก้ไขคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งนำทรัพย์สินนั้นคืนแก่ผู้เสียหายต่อไป จึงขอให้ผู้เสียหายติดต่อแจ้งรายละเอียดแห่งความเสียหายเพื่อให้ ปปง. และพนักงานอัยการดำเนินการให้ได้รับการชดใช้ตามกฎหมายต่อไป